หั่น "ดอกเบี้ย" 0.25% ครึ่งปี “แบงก์รัฐ-พาณิชย์” อุ้มกลุ่มเปราะบาง
สมาคมธนาคารไทยเห็นชอบปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ระยะเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระให้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกค้าบุคคล และ SME โดยเป็นผลจากกรณีที่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 23 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองสภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน
ในประกาศของสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในตลาดเงิน ตลาดทุน สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง (Corporate Responsibility) ซึ่งการช่วยเหลือลูกค้า ประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ
สอดคล้องกับความเห็นของ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ที่ยืนยันว่า คณะกรรมการสมาคมธนาคารไทย ตระหนักถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟ้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เพื่อให้มีโอกาสฟื้นตัว ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับนโยบายขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว รวมถึงมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยธนาคารที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทย จะเร่งพิจารณาดำเนินการตามหลักการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมของระบบงาน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของแต่ละธนาคารตามบริบทที่เหมาะสม
ทันทีที่ได้เห็นประกาศดังกล่าว นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้โพสต์ข้อความขอบคุณ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก
“ผมขอชื่นชมการลดดอกเบี้ย ที่สะท้อนให้เห็นว่าสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยที่หาเช้ากินค่ำ แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยต่อลมหายใจให้สามารถเอากำไรไปต่อยอดได้ ถือเป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม ในส่วนของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ทางรัฐบาลจะพยายามหาแนวทาง และมาตรการที่จะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดครับ”
นอกจากนี้ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ยังขานรับนโยบายนี้ โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จะลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากได้มีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน โดยหั่นอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์ นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป
แต่หากดูท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านมุมมองของ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเห็นได้ว่า กนง. มองว่าหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% แม้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในระยะสั้นๆ แต่ในระยะกลาง ภาระหนี้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น จากการก่อหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ระดับ 2.50% ต่อปี เป็นระดับที่ช่วยเสริมศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว และรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ทั้งความเสี่ยงด้านบวก และความเสี่ยงด้านลบ
หากดูตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1/2567 สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2567 แบงก์พาณิชย์ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) และธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทำกำไรสุทธิรวม 63,932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ) และเพิ่มขึ้น 4.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่อยู่ 50,597 ล้านบาท โดยแบงก์ที่ทำกำไรสูงสุดในรอบนี้ คือ ธนาคารกสิกรไทย มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,486 ล้านบาท รองลงมา ธนาคารไทยพาณิชย์ 11,281 ล้านบาท และธนาคารกรุงไทย 11,079 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารที่มีการเติบโตของมูลค่าเอ็นพีแอลสูงสุดเมื่อเทียบ QOQ ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน เพิ่มขึ้น 18.92% จาก 12,630 ล้านบาท เพิ่มเป็น 15,019 ล้านบาท รองลงมา ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อยู่ที่ 12.53% จาก 6,298.80 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7,088 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ 9.30% จาก 85,955 ล้านบาท เพิ่มเป็น 93,949 ล้านบาท
อานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาล ควบคู่กับการที่ แบงก์รัฐ-พาณิชย์ ยอมเฉือนเนื้อ หั่นดอกเบี้ย ลง 0.25% นาน 6 เดือน จะสามารถต่อลมหายใจให้กับกลุ่มเปราะบาง ได้มากน้อยแค่ไหน...นับจากนี้ คงต้องจับตาท่าทีของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะฝ่าข้อครหาว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50 % ต่อปีทำให้แบงก์พาณิชย์โกยกำไรกันถ้วนหน้า งานนี้ต้องวัดใจ กนง.ที่จะประชุมอีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้
เรียบเรียงโดย ปลุญดา บัวคณิศร