รีเซต

หมออุดม ชี้แนวโน้มติดโควิดเริ่มสูง ยันไม่เลื่อนเปิดผับไวขึ้น หวั่นไม่ได้ฉลองปีใหม่

หมออุดม ชี้แนวโน้มติดโควิดเริ่มสูง ยันไม่เลื่อนเปิดผับไวขึ้น หวั่นไม่ได้ฉลองปีใหม่
TNN ช่อง16
26 พฤศจิกายน 2564 ( 11:57 )
52

วันนี้ (26 พ.ย.64) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีการเตรียมผ่อนคลายมาตรการจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกใหม่หรือไม่ว่า คนยอมรับว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการอย่างแน่นอนในวันนี้ แต่ต้องเคร่งครัดในเรื่องมาตรการ โดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

เนื่องจากเมื่อเข้าช่วงฤดูหนาว เชื้อไวรัสโควิด-19 จะเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งการฉีดวัคซีนแม้จะสามารถช่วยในการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี โดยเห็นได้จากประเทศในฝั่งยุโรป แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้กว่าร้อยละ 70 แต่ก็กลับมีการแพร่ระบาดในระลอกใหม่

ขณะนี้ประชาชนในประเทศไทยแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วรู้สึกสบายใจก็เริ่มออกมาลั้นลา ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างในประเทศฝั่งยุโรปที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่รักษาระยะห่าง

ดังนั้นจึงจะต้องมีการปรับทัศนคติเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นตัวเลขการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น อย่างเช่น สถิติที่เริ่มมีแนวโน้มดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ และส่วนตัวก็เชื่อเช่นนั้นว่าตัวเลขการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกแน่นอนแต่อาจไม่มากนักแต่จะทำให้เกิดปัญหาในการเปิดประเทศ 

นพ.อุดม กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามเป้า 50 ล้านคน ซึ่งเหลืออีกเพียง 3 ล้านจะถึงเป้าหมาย และในเดือนธันวาคมเราจะสามารถฉีดเข็ม 2 ครบ และเชื่อว่าวัคซีนมีปริมาณที่เพียงพออย่างแน่นอน จึงขอให้ช่วยกันกระตุ้นให้ประชาชนมาฉีดวัคซีน อย่างน้อยจะไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง 

ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาเตือน ว่าจะมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งพบว่าประเทศที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจน ขณะนี้ฉีดอะไรไปได้ก็ขอให้ฉีดไปก่อน เพราะถือเป็นการช่วยประเทศให้ระบบสาธารณสุขไม่รับภาระมากเกินไป และไม่มีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอ

ภาพจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


ทั้งนี้ จะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพราะเกรงว่าประชาชนจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มดีดตัวเพิ่มขึ้นสูง และไม่อยากให้เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับในประเทศฝั่งยุโรป มารอที่ผ่านมาไทยก็ทำได้ดีและเคร่งครัดมาตรการมาโดยตลอด

ส่วนตัวเชื่อว่าจากนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะขึ้นบ้างแต่ไม่มาก และคงจะทำให้เศรษฐกิจสามาถเดินหน้าไปได้ โดยการผ่อนคลายมาตรการ นายกรัฐมนตรี ก็ยอมที่จะผ่อนคลายมาตรการ แต่ตนมองว่าจะต้องผ่อนคลายมาตรการแบบพอเหมาะสม เพราะหากกลับมาล็อกดาวน์จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ พร้อมกับมองว่า เชื้อโรคเดินเองไม่ได้แต่มากับคน ฉะนั้นทุกคนจึงต้องช่วยกัน อยากเที่ยวให้สนุกแต่ต้องระมัดระวังตัวเอง

ขณะที่ แนวโน้มการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ เร็วกว่ากำหนดเดิม 16 ม.ค.65 นั้น นพ.อุดม มองว่า ครั้งที่แล้วก็ลงมติไปแล้วว่าให้เปิดววันที่ 16 ม.ค.65 ไม่ใช่ว่าไม่ให้เปิด แต่ให้ผู้ประกอบการไปเตรียมการให้พร้อมในเรื่องของมาตรการ

"สิ่งที่กังวลคือการถ่ายเทอากาศ เพราะอย่างไรก็รู้อยู่แล้วว่าจำกัดคนไม่ได้ แต่ให้บอกจำกัดคนร้อยละ 50 หรือ ร้อยละ 75 คงเป็นไปไม่ได้ และเมื่อดื่มเหล้าก็คุยเสียงดังละอองน้ำลายก็พ่นใส่กัน เอาเชื้อออกมา และที่สำคัญเป็นการอยู่ยาว 4-5 ชั่วโมง คงไม่มีใครดื่มแค่ครึ่งชั่วโมงแล้วออก ไม่มีทาง ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด และก็มีตัวอย่าง 2 คลัสเตอร์ ใหญ่มาแล้วเกี่ยวกับสถานบันเทิง เพราะฉะนั้นอย่าให้มาเกิดอีก

ขอย้ำว่าไม่ได้ไม่ให้เปิด แต่คุณต้องเตรียมพร้อมทุกอย่าง คุณต้องช่วยประเทศด้วย ก็เข้าใจคนเดือดร้อน รัฐบาลต้องไปเยียวยาที่จะช้าออกไปอีกเดือนกว่าๆ เพราะหากมาเปิดก่อน คิดว่าปีใหม่คงไม่ได้ฉลองกัน" นพ.อุดม ให้ความเห็น

ภาพจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข


ส่วนบุคลากรทางการแพทย์จะเพียงพอ หากเกิดการระบาดรอบใหม่หรือไม่ นพ.อุดม ย้ำว่า เรามีบทเรียน และเรียนรู้มาหลายรอบ คิดว่าสามารถรองรับได้แน่นอน เพียงแต่ว่าทำไมจะต้องไปเหนื่อยอีก ซึ่งขณะนี้ตัวเลขไม่เกิน 5,000 คน ก็ยังถือว่าเยอะอยู่ แต่ไม่ได้เหนื่อยมาก หากขึ้นไปถึง 10,000 คนก็จะเหนื่อยมาก

และก็ไม่อยากไปถึง 20,000 คน อยู่แล้ว เพราะเตียงไม่พอแน่นอน จึงไม่อยากให้เกิดภาพเหล่านั้น ดังนั้น ทุกคนต้องดูแลตัวเอง พร้อมย้ำว่าเรื่องระบบสาธารณสุขไม่ได้กังวล ครั้งที่แล้วเราก็ขยายได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยมาก จึงต้องยอมรับว่าต่อไปจนถึงกลางปีหน้า จะต้องอยู่กับโควิด-19 แต่อยากให้ได้วันละ 1,000-2,000 คน ขณะที่ ยอดผู้เสียชีวิตวันละไม่เกิน 20 คน ก็จะไม่เหนื่อยและรับได้ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกตั้งเป้าไว้ 

ส่วนกรณีความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ไวรัสโควิดในแอฟริกาที่กลายพันธุ์มากกว่าเดลต้าเท่าตัวนั้น นพ.อุดม ระบุว่า เมืองไทยยังไม่ต้องกังวล เพราะเชื้อยังไม่เข้ามา แต่ที่ยกตัวอย่างเพราะว่าใช้เวลาไม่นานจากแอฟริกามาฮ่องกง จึงไม่รู้ว่าจะมีใครที่มาจากฮ่องกงแล้วเข้ามาไทยบ้าง จึงเตือนไว้แต่อย่าไปกังวลอย่างน้อยตอนนี้ขอให้ระมัดระวังเชื้อของไทยให้ดีเสียก่อน


ภาพจาก TNN ONLINE , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง