รีเซต

นักวิจัยเผยช่องทางแฮกเกอร์ ปลอมภาพเอกซเรย์หลอก AI ให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด

นักวิจัยเผยช่องทางแฮกเกอร์ ปลอมภาพเอกซเรย์หลอก AI ให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด
TNN ช่อง16
21 ธันวาคม 2564 ( 12:52 )
161

ในวงการแพทย์ เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ให้มีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม แต่ล่าสุด AI ทางการแพทย์อาจตกเป็นเป้าโจมตีของแฮกเกอร์บนโลกออนไลน์ได้

ที่มาของภาพ Cleveland clinic

 


นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ทำการศึกษาการโจมตี AI ของเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) โดยสร้างภาพเอกซเรย์ของปลอมขึ้นแล้วฉายขึ้นแทนภาพของจริง เพื่อให้ AI วิเคราะห์ผลผิดพลาด รวมถึงลวงรังสีแพทย์ให้วินิจฉัยผิดพลาดด้วย


ผลปรากฏว่า AI วิเคราะห์ผลภาพเอกซเรย์ของเต้านมไปตามภาพลวงที่สร้างขึ้น เป็นต้นว่า ผู้ป่วยที่แท้จริงแล้วมีมะเร็งเต้านม แต่ภาพเอกซเรย์ของปลอมที่สร้างขึ้นเป็นภาพเต้านมปกตินั้น AI กลับวิเคราะห์ผลออกมาว่า ผู้ป่วยรายนั้นไม่เป็นมะเร็งเต้านม !! ในขณะเดียวกันภาพเอกซเรย์ของปลอมยังสามารถหลอกรังสีแพทย์ให้วินิจฉัยผิดพลาดได้ด้วย


ก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยหนึ่งเมื่อปี 2019 ที่ศึกษาการโจมตี AI ของเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดผิดพลาด ซึ่งได้ให้ผลลัพธ์คล้ายกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก คือทั้ง AI และรังสีแพทย์ให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดนั่นเอง




งานวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการโจมตีทางไซเบอร์ของเหล่าแฮกเกอร์ ที่ต้องการก่อกวนระบบสาธารณสุขในสถานพยาบาลต่าง ๆ แม้จะยังไม่พบรายงานการวินิจฉัยโรคผิดพลาดจากภาพถ่ายรังสี (โดยมีสาเหตุจากการถูกหลอกลวงด้วยภาพถ่ายรังสีปลอม) แต่หากเกิดการโจมตีนี้ขึ้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของผู้ป่วยเป็นวงกว้าง


นอกจากนี้ แฮกเกอร์อาจนำรูปแบบการโจมตีนี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะจงใจให้แพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาดเพื่อเคลมเงินประกันค่ารักษาพยาบาล หรืออาจสร้างความวุ่นวายให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยการสร้างภาพรังสีลวงแบบสุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรงพยาบาลจ่ายเงินค่าไถ่ ซึ่งเรียกว่าการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ (Ransomware)

ที่มาของภาพ Paratus People

 


นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กจึงให้ความเห็นว่า บริษัทผู้พัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์ผลโดยเฉพาะเครื่องถ่ายภาพรังสี ควรมีระบบที่สามารถตรวจจับภาพของปลอมที่ถูกแทรกขึ้นมา ไม่ใช่ภาพที่ถ่ายจากเครื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการวินิจฉัยผิดพลาด และเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้ป่วยด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Verge

ข่าวที่เกี่ยวข้อง