รีเซต

ทำความรู้จักกับคำว่าไบต์ (Byte) ศัพท์พื้นฐานแห่งวงการเทคโนโลยี

ทำความรู้จักกับคำว่าไบต์ (Byte) ศัพท์พื้นฐานแห่งวงการเทคโนโลยี
TNN ช่อง16
29 กรกฎาคม 2565 ( 15:25 )
214

ไบต์ (Byte) เป็นหน่วยข้อมูลที่ใช้งานมากที่สุด โดยไบต์ (Byte) นิยามเป็นชุดเลขฐานสองจำนวน 8 ตัว หรือเรียกว่า 8 บิต (Bit) ซึ่งจะมีค่าเท่ากับตัวอักษร 1 ตัว โดยเลขฐานสองหมายถึงเลขในระบบที่มีเพียง 0 และ 1 เท่านั้น เพราะเป็นเลขที่ใช้เป็นรหัสข้อมูลของคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น ๆ และในปัจจุบัน ข้อมูลที่เราจัดเก็บและใช้งานก็มีขนาดเกินกว่าจะพูดถึงแค่คำว่าไบต์ (Byte)  


ข้อมูลในปัจจุบันไม่ได้มีขนาดเป็นไบต์ (Byte) แต่มีขนาดใหญ่กว่านั้นมาก เช่น เมกะไบต์ (Megabyte: MB) หรือ กิกะไบต์ (Gigabyte: GB) ซึ่งทั้งคำว่าเมกะ (Mega) และคำว่า กิกะ (Giga) เป็นคำอุปสรรค (Prefix) ที่ใช้จำแนกขนาดของไบต์ โดยคำอุปสรรคเหล่านี้จะมีค่าต่าง ๆ ในลักษณะ 1,000 เท่า ของคำอุปสรรคที่เล็กกว่า


กิโลไบต์ (Kilobyte) เป็นหนึ่งในหน่วยข้อมูลที่ใช้แพร่หลายในยุค 90 ก็ว่าได้ เพราะว่าหากใครคุ้นเคยกับแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์ (Floppy Disk) จะรู้ว่าแผ่นดิสก์แบบนี้มีขนาด 720 กิโลไบต์ (Kilobyte) โดยตามนิยามแล้ว 1 กิโลไบต์ (KB) จะมีค่าเป็น 1,000 ไบต์ (Byte) และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทำให้ในทศวรรษต่อมาเราจะคุ้นเคยกับคำว่า เมกะไบต์ (Megabyte: MB) เช่น แผ่นซีดี (CD) ที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดความจุข้อมูลอยู่ที่ 720 เมกะไบต์ (MB) โดย 1 เมกะไบต์ (MB) จะเท่ากับ 1,000 กิโลไบต์ (KB)


กิกะไบต์ (Gigabyte: GB) เริ่มเป็นหน่วยข้อมูลที่แพร่หลายในช่วงเวลาที่หน่วยเมกะไบต์ (MB) นั้นเป็นมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลในยุคนั้น โดยเริ่มจากแผ่นดีวีดี (DVD) ที่มีความจุ 4.7 กิกะไบต์ (GB) แต่การมาถึงของเทคโนโลยีที่เก็บข้อมูลแบบพกพาที่เรียกว่ายูเอสบี แฟลชไดรว์ (USB Flash Drive) ทำให้มาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ข้อมูลต่าง ๆ มีความซับซ้อนและกินพื้นที่มากขึ้น การถ่ายโอนข้อมูลระดับกิกะไบต์ (GB) ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป


เทราไบต์ (Terabyte) เป็นหน่วยขนาดข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์แบบส่วนบุคคล (Personal Computer: PC) ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพา (Laptop) ต่างก็ให้ความจุข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive: HDD) มา 1 เทราไบต์ (TB) ที่มีขนาดเป็น 1,000 กิกะไบต์ (GB) แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ที่เก็บข้อมูลแบบโซลิดสเตท (Solid State Drive: SSD) ที่มีขนาดเริ่มต้นน้อยกว่า แต่เชื่อได้ว่าหน่วยเทราไบต์ (TB) จะยังคงเป็นมาตรฐานต่อไปอีกหลายปีต่อจากนี้ 


เพตะไบต์ (Petabyte: PB) เป็นหน่วยที่ไม่คุ้นเคยนัก เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) สุดยอดเครื่องประมวลผลที่อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี นวัตกรรม และการสร้างแบบจำลองต่าง ๆ ทั่วโลก โดย 1 เพตะไบต์ (PB) จะเป็น 1,000 เท่า ของเทราไบต์ (TB) โดยมีตัวอย่างในไทยเป็นระบบ เอชพีอี เครย์ เอ็กซ์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (HPE Cray EX Supercomputer) ที่มีขนาดพื้นที่จัดเก็บทั้งระบบที่ 12 เพตะไบต์ (PB) ความสามารถในการประมวลผล 13 เพตะฟล็อปส์ (Petafloops: PF) ที่หมายถึงความสามารถในการสร้างการคำนวณเพื่อสร้างเลขทศนิยมได้ 1 พันล้านล้านครั้ง ใน 1 วินาที นับเป็น 1 ใน 100 ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก โดยระบบนี้จะถูกติดตั้งที่ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ไทยเอสซี (NSTDA Supercomputer Center: ThaiSC) ภายในปี 2565 นี้



ที่มาข้อมูล Wikipedia, ThaiSC

ที่มารูปภาพ Unsplash

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง