โตโยต้า-โฟล์คสวาเกน ขาดชิป ลดกำลังผลิตทั่วโลก
ข่าววันนี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประกาศลดกำลังการผลิตทั่วโลกในเดือนก.ย.ลง 40% จากแผนที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ก่อนหน้านี้ โตโยต้าตั้งเป้าลดกำลังการผลิตรถยนต์ลงเหลือต่ำกว่า 900,000 คันเล็กน้อย แต่ล่าสุดนั้นบริษัทปรับแผนการผลิตเหลือราว 500,000 คัน อย่างไรก็ดี โตโยต้ายังไม่ได้ชี้แจงในประเด็นนี้โดยทันที
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการจัดหาชิ้นส่วนและการผลิตรถยนต์ในหลายบริษัท ประกอบกับการขาดแคลนชิปเนื่องจากการระบาดที่ยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน
โตโยต้าซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อวัดจากยอดขายระบุว่า บริษัทเผชิญกับสภาวะทางธุรกิจที่ไม่ได้คาดการณ์มาก่อนในเดือนนี้ ทั้งโควิด-19 ที่ระบาดรอบใหม่ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่, การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และราคาวัตถุดิบที่ดีดตัวสูงขึ้น
ด้าน โฟล์คสวาเกน บริษัทรถยนต์ของเยอรมนี ก็ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า บริษัทอาจต้องปรับลดการผลิตรถยนต์ลงอีก อันเนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์
โดยโฟล์คสวาเกนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะดีขึ้นภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าจะชดเชยการผลิตที่หายไปในช่วงครึ่งปีหลังให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อุตฯ รถยนต์ไทยอ่วม ขาดชิป – ติดโควิด ฉุดยอดผลิตโต 0%
จากกระแสข่าวที่โตโยต้าประกาศลดกำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจากปัญหาขาดแคลนชิปนั้น แหล่งข่าวในแวดวงอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในไทย กล่าวว่า ในขณะนี้การขาดแคลนชิปกระทบไปทุกบริษัทผลิตรถยนต์
โดยในส่วนของโตโยต้า บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นจะแบ่งสัดส่วนชิปมาให้ไทยมากกว่าที่อื่น เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้คาดว่าในอีก 2 – 3 เดือน จะเริ่มขาดแคลนชิปแล้ว
อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนมากกว่า เนื่องจากการระบาดขยายไปยังฐานการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญใน จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และในจังหวัดอื่น ๆ
ทำให้ในขณะนี้โรงงานผลิตรถยนต์บางรายก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ จากเดิมที่ทำงานวันละ 2 กะ ลดลงเหลือวันละ 1 กะ แต่คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะกลับมาผลิตได้เหมือนเดิม
ทั้งนี้ ความต้องการรถยนต์ในตลาดโลกยังขยายตัวสูง คาดว่าหากอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ขาดแคลนชิป และไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในโรงงาน ในปีนี้ก็อาจจะมียอดผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10% แต่จากปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ขยายตัวได้เพียง 0-5% จากปีก่อนที่มียอดการผลิต 1.42 ล้านคัน
นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ที่ยาวนาน ก็ส่งผลต่อยอดขายภายในประเทศสูง ซึ่งหากรัฐบาลขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ออกไปอีก ก็อาจจะกระทบต่อยอดขายรถยนต์ภายในประเทศจนต้องปรับลดเป้าหมายได้ในอนาคต