รีเซต

“สุชัชวีร์”เดินขอคะแนน เขตลาดกระบัง ย้ำผูกพันเหมือนบ้าน ประกาศขอสู้แก้น้ำท่วม

“สุชัชวีร์”เดินขอคะแนน เขตลาดกระบัง ย้ำผูกพันเหมือนบ้าน ประกาศขอสู้แก้น้ำท่วม
มติชน
29 เมษายน 2565 ( 14:36 )
72
“สุชัชวีร์”เดินขอคะแนน เขตลาดกระบัง ย้ำผูกพันเหมือนบ้าน ประกาศขอสู้แก้น้ำท่วม

ข่าววันนี้ 29 เม.ย.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย น.ส.มารีญา ฤกษ์ดี (ดาหวัน) ผู้สมัคร ส.ก. เขตลาดกระบัง หมายเลข 6 เดินหาเสียง ที่ตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นเขตใหญ่เขตหนึ่งใน กทม. ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาตลอด 30 ปี

 

โดยนายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ตนอยู่ที่เขตลาดกระบัง มาตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน เขตลาดกระบังจมน้ำและไม่ดีขึ้นเลย และเคยเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง สร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร สร้างเครื่องมือแพทย์ดูแลพี่น้องประชาชนทุกคน ทำศูนย์ฉีดวัคซีนต่อสู้โควิดเคียงบ่าเคียงไหล่ ทำ Home Isolation ร่วมกัน วันนี้มีความมุ่งมั่นและขออาสาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ ถึงเวลาแล้วกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยน

 

“เขตบ้านผมเขตลาดกระบัง กี่ปีๆ ก็ไม่เคยได้รับการดูแล พอสร้างถนนอ่อนนุช สร้างแล้วเดือดร้อนแค่ไหน สร้างก็ไม่เสร็จสักที มีปัญหารถติด และฝนกำลังจะมา ลาดกระบังเป็นพื้นที่ที่ทรุดตัวมากที่สุด เมื่อฝนตกลงมาทำให้ลาดกระบังน้ำท่วมเพราะน้ำจากมีนบุรี คลองสามวา หนองจอก ต้องระบายไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุดโดยจะผ่านมาทางคลองประเวศ แต่ปัญหาคือประตูน้ำคลองประเวศปิดไม่ค่อยเปิด ทำให้น้ำจากลาดกระบังไม่สามารถไหลไปถึงพระโขนงเพื่อออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทัน สุดท้ายลาดกระบังก็จมน้ำ ผมอยากแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้เบ็ดเสร็จให้ได้ การดูแลเครื่องสูบน้ำ และประตูระบายน้ำของเขตลาดกระบังไม่ได้รับการเหลียวแล หากผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมาบัญชาการเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมแต่ละเขตเอง เพราะทนทุกข์ทรมานมาตั้งแต่เรียนหนังสือแล้ว เท่านั้นยังไม่พอฟุตบาททางเดินแทบจะเดินไม่ได้ ซึ่งมีผลต่อการทำมาหากิน และผมตั้งใจจะดูแลพ่อค้าแม่ค้าดูแลตลาดนัด เมื่อก่อนมาเดินตลาดเช้ากับคุณแม่คนแน่น แต่วันนี้มาเดินเจอแต่พ่อค้าแม่ค้า คนเดินตลาดน้อยจริงๆ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

 

 

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า นอกจากเสนอนโยบายขายได้ขายดีเพื่อพ่อค้าแม่ค้าแล้ว ยังเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าและประตูระบายน้ำอัตโนมัติ ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ระยะกลาง สร้างแก้มลิงใต้ดิน และเชื่อมต่อคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมบูรณ์ บริหารงานร่วมกับเมืองปริมณฑล และระยะยาว ริเริ่มโครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯอันเกิดจากน้ำทะเลหนุนและภาวะโลกร้อน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง