ประวัติ "วัดไร่ขิง พระอารามหลวง" วัดดังนครปฐม ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ

ประวัติ วัดไร่ขิง
วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลไร่ขิง วัดนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงพระราชทานนามว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดไร่ขิง ตามชื่อของชุมชนแถบนี้ ซึ่งในอดีตเป็นที่อยู่ของชาวจีนและนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลาย วัดไร่ขิงนี้สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ฃ
อาณาเขตวัดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
เขตศาสนสถาน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2394 สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมื่อสร้างวัดเสร็จได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากวัดศาลาปูน (ตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมาและอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัด ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยแบบประยุกต์
ภาพจาก วัดไร่ขิง พระอารามหลวง
ลักษณะผึ่งผายคล้ายสมัยเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย พระพักตร์ดูคล้ายศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี พระอุโบสถ เป็นทรงโรง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝาผนังก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นลายพุดตาน ติดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสลับ ศาลาจตุรมุข อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นศาลาทรงไทย 4 มุข
หน้าบันทั้งสี่ด้านมีภาพปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติถึงปรินิพพาน และการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ มณฑปกลางสระน้ำ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง อยู่ด้านทิศตะวันตกของพระอุโบสถ บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัดเป็นวังปลาและเขตอภัยทาน มีปลาสวายตัวโตนับพันตัวอาศัยอยู่ ระหว่างวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 ถึงวันแรม 4 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีมีการจัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ การประกวดผลไม้ และการแสดงมหรสพ
ภาพจาก ททท.
การเดินทางมา วัดไร่ขิง
โดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ผ่านสวนสามพราน จะพบป้ายของวัดไร่ขิงอยู่ทางขวามือ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร
โดยรถประจำทาง
เดินทางโดยรถสาธารณะ สาย 84 และสาย 556 หรือนั่งรถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งสายใต้สายเก่า กรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี ลงปากทางเข้าวัดไร่ขิง แล้วต่อรถโดยสารประจำทางเข้าไปยังวัดไร่ขิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ประวัติ เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระธรรมวชิรานุวัตร ผู้มากด้วยสมณศักดิ์
- ประวัติลุงเอี่ยม วัดไร่ขิง ขอทานเงินล้านผู้ให้ด้วยศรัทธา
- เงินพระ vs เงินวัด ต่างกันอย่างไร? เช็กหลักการใช้ที่ควรรู้