รีเซต

อันตรายโรคตา VKH รักษาที่ถูกวิธี เสี่ยงตาบอดถาวร

อันตรายโรคตา VKH รักษาที่ถูกวิธี เสี่ยงตาบอดถาวร
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2567 ( 15:42 )
15

นายแพทย์อาคม  ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ระบุว่า โรคตา Vogt-Koyanagi-Harada Disease (VKH) เป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการกับร่างกายหลายระบบ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที


โรคตา Vogt-Koyanagi-Harada : VKH คือ ?


นายแพทย์นพคุณ ปัญญายิ่งยง หัวหน้าหน่วยจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ให้ข้อมูลว่า โรค Vogt-Koyanagi-Harada Disease หรือ VKH เป็นโรคตาอักเสบชนิดรุนแรงที่พบบ่อยในคนวัยทำงาน พบอันดับต้น ๆ ของโรคตาอักเสบชนิดเรื้อรังในไทย ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัดเจน แต่คาดว่าเกิดจากการที่ร่างกายมีการต่อต้านเนื้อเยื่อตัวเองโดยจำเพาะกับเซลล์ที่มีเม็ดสี (melanin) ซึ่งอยู่ในชั้นผิวหนัง เส้นผม และเนื้อเยื่อลูกตา เป็นต้น



การดำเนินของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ


ระยะที่ 1 เกิดในช่วงสองถึงสามวันแรก โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตึงศีรษะ ตาพร่ามัวเล็กน้อย สู้แสงไม่ได้ เห็นจุดดำลอยไปมาทั้งสองตา มีหูอื้อทั้งสองข้างร่วมด้วย


ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของทั้งลูกตา จะมีอาการตาแดง ปวดและมัวลงอย่างมากของตาทั้งสองข้าง ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์



ระยะที่ 3 เป็นระยะที่การอักเสบจะลดลง การมองเห็นเริ่มจะดีขึ้นได้เอง หากรับการรักษาทันผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้ โดยไม่เข้าสู่ระยะที่ 4 


แต่หากเข้าสู่ระยะที่ 4 จะเป็นการอักเสบระยะเรื้อรัง มีการทำลายของเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่มีเม็ดสีเป็นส่วนประกอบ โดยจะเกิดด่างขาวตามร่างกาย ผมร่วง ขนตาเป้นด่างขาว และเกิดตาอักเสบแบบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ต้อหิน ต้อกระจก ตาอักเสบเรื้อรัง




ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยวิธีรักษาได้แก่


- ใช้ยาในกลุ่ม Steroid เพื่อควบคุมการอักเสบ

- ใช้ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย เพื่อป้องกันการดำเนินโรคไปสู่ระยะเรื้อรัง

- โรคนี้อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น ต้องมีการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง



หากรับรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติและหายจากโรคได้ แต่หากรับการรักษาไม่สม่ำเสมอ และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่น ก็อาจนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้


ข้อมูล : โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)

ภาพ : ทีมกราฟิก TNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง