ไม่ได้เศร้า แต่น้ำตาไหลตลอดเวลา เสี่ยงเป็น "ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน"

น้ำตาคลอเบ้าหรือไหลอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ไม่ได้เศร้าหรือเสียใจ ระวังนะ! เพราะอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของ “ท่อน้ำตาอุดตัน” ซึ่งเป็นภาวะที่น้ำตาระบายไปสู่โพรงจมูกไม่ได้ ทำให้น้ำตาเอ่อล้นตลอดเวลา
ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacimal Duct Obstruction) คือ ภาวะที่ทางเดินท่อน้ำตามีการอุดกลั้น ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำตาออกมาได้ ส่งผลให้มีน้ำตาคลอ หรือมีน้ำตาไหลคล้ายร้องไห้ตลอดเวลา หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดการระคายเคือง หรือการอักเสบติดเชื้อ กลายเป็นถุงน้ำตาอักเสบได้ ภาวะนี้สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยทุกวัย ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
สาเหตุในการเกิดท่อน้ำตาอุดตัน
-เกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา เช่น ฝุ่นละอองเข้าตา
-มีการติดเชื้อบริเวณท่อน้ำตา
-เกิดเนื้องอกบริเวณท่อน้ำตา
-ระบบเปลือกไม่สามารถตาบีบน้ำตาได้
-มีประวัติในการได้รับอุบัติเหตุบริเวณท่อน้ำตา
-มีประวัติในการได้รับการรักษาด้วยวิธีฉายแสงบริเวณดวงตา
-โรคภูมิแพ้
-โรคไซนัส
-โรคต้อหิน ที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา
-ผนังกั้นหัวตาไม่ทะลุตั้งแต่กำเนิด
อาการอื่น ๆ ของภาวะท่อน้ำตาอุดตัน
-มีขี้ตาสีเขียวเหลือง
-ตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ
-หากกดบริเวณหัวตา อาจมีหนองไหลจากรูเปิดท่อน้ำตา
ใครมีความเสี่ยงบ้าง ?
-สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยพบมากในผู้สูงอายุ
-ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า จนท่อน้ำตาฉีกขาดหรืออุดตัน
-ผู้ที่เป็นโรคบริเวณโพรงจมูก เช่น เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เนื้องอกบริเวณโพรงจมูก
-ผู้ที่เคยรักษาภาวะตาแห้ง ด้วยวิธีอุดท่อน้ำตา
การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน
การรักษาท่อน้ำตาอุดตันสำหรับผู้ป่วยวัยเด็ก
-ยาปฏิชีวนะ ป้องกันการอักเสบติดเชื้อ
-นวดบริเวณหัวตา
-ใช้แท่งโลหะแยงลงไปบริเวณท่อน้ำตา
การรักษาท่อน้ำตาอุดตันสำหรับผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่
-การหยอดยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดขี้ตา และป้องกันการอักเสบติดเชื้อเป็นถุงหนองที่หัวตา
-หากเกิดการอักเสบเป็นหนอง ผู้ป่วยจะได้รับการหยอดยาฆ่าเชื้อ และรับประทานยาฆ่าเชื้อ และถ้ามีอาการปวดร่วมด้วยจักษุแพทย์จะทำการเจาะระบายหนอง หากมีการอักเสบเปลือกตามีการบวมทั้งหมด จักษุแพทย์จะทำการฉีดยาให้ผู้ป่วย
-การใช้ Laser เพื่อให้เกิดรูเชื่อมระหว่างถุงน้ำตา และจมูก
-การผ่าตัดผ่านทางผิวหนังบริเวณสันจมูก หากผู้ป่วยอาการอักเสบ บวม แดง จะไม่สามารถผ่าตัดได้ เพราะผิวหนังบริเวณถุงน้ำตาอักเสบจะไม่แข็งแรง จากการผ่าตัด และเย็บแผล เกิดแผลแยกบริเวณที่ผ่าตัด ส่งผลให้มีรอยแผลเป็นบนใบหน้าได้
-ผ่าตัดโดยการใช้กล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) เป็นการผ่าตัดในช่องรูจมูก เพื่อสร้างที่ในการระบายท่อน้ำตาใหม่ สามารถใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบ บวม แดงได้ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีประวัติใบหน้าแตก ยุบ การผ่าตัดนี้อาจส่งผลให้กระดูกผิดรูปได้ อีกทั้งการผ่าตัดวิธีนี้ จะไม่สร้างแผลเป็นให้แก่ผู้ป่วย มีประสิทธิภาพสูง สามารถฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ไวขึ้น
ท่อน้ำตาอุดตัน รักษาได้! หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป