รีเซต

ประเมิน 3 เดือน พักทรัพย์ พักหนี้ อุ้มเอสเอ็มอี

ประเมิน 3 เดือน พักทรัพย์ พักหนี้ อุ้มเอสเอ็มอี
มติชน
27 กรกฎาคม 2564 ( 07:01 )
44
ประเมิน 3 เดือน พักทรัพย์ พักหนี้ อุ้มเอสเอ็มอี

 

ผ่านมาแล้ว 3 เดือน หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน (อัพเดต ณ 19 กรกฎาคม 2564) มีกิจการที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 16 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่โอน 1,000.22 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวทำให้ดูเหมือนว่าโครงการนี้เดินหน้าอย่างล่าช้า

 

 

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ ธุรกิจสปา และโรงงานแปรรูป เป็นต้น โดยยอมรับว่าสาเหตุที่การขอเข้ามาตรการอาจน้อยเมื่อเทียบกับมาตรการอื่น เนื่องจากมีเรื่องการโอนทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาพิจารณาว่าจะเข้าร่วมมาตรการนี้หรือไม่ จากการสอบถามสถาบันการเงิน พบว่าขณะนี้มีลูกหนี้ที่ได้ยื่นตีโอนทรัพย์มายังสถาบันการเงินรวมแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท

 

 

แต่ทางสถาบันการเงินยังไม่ได้ยื่นขออนุมัติมายังธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากรอการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ ซึ่งได้มีการลงนามในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา พ.ร.ก.ดังกล่าวจะยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ 2% ของกระทรวงมหาดไทย และภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ ทั้งในตอนการรับโอนและขั้นตอนการซื้อทรัพย์คืน ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากกรมสรรพากร

 

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. เคยระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์โครงการพักทรัพย์พักหนี้ที่ได้ถูกออกแบบมา โดยมีการหารือกับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการมาโดยตลอด ดังนั้น ต้องให้เวลาทั้งสองฝ่ายเจรจาเงื่อนไขต่างๆ อนึ่ง ในกรณีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีความกังวลว่าจะถูกยึดทรัพย์เมื่อครบกำหนดสัญญานั้น ในทางปฏิบัติลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกัน และทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

 

โดย ธปท.ได้เข้าไปร่วมพิจารณาสัญญาให้เป็นธรรมโดยการกำหนดถ้อยคำในสัญญามาตรฐาน และให้สถาบันการเงินที่ขอเข้าร่วมโครงการส่งสัญญาตีโอนให้ ธปท.พิจารณาก่อนที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้ได้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 34 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 721) พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

 

 

การออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ทำให้ลูกหนี้ธุรกิจซึ่งมีทรัพย์สิน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และต้องการสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลกับภาระภาษีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ และสถาบันการเงิน และสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นยังช่วยในเรื่องของสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อทรัพย์สินกลับคืนได้ในราคาที่โอนไป นอกจากนี้ยังมีสิทธิเช่าทรัพย์กลับไปใช้ในการประกอบธุรกิจได้ ทำให้ไม่เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง หรือผิดนัดชำระหนี้

สนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า จากการที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศเรื่องยกเว้นค่าธรรมเนียมตามรายละเอียดโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทำให้ยอดการใช้วงเงินของโครงการนี้ที่ยังค้างอยู่เพื่อรอการโอนหลังเจรจาแล้วน่าจะเพิ่มขึ้นมา เพราะช่วงที่ผ่านมาหลายธุรกิจมีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์รอไว้อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อกรมสรรพากรออกประกาศมา ก็จะทยอยมียอดเข้ามา ส่วนที่ยังน่าเป็นห่วง คือ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ อาจจะไม่เหมาะกับลูกค้าทุกประเภท ดังนั้น ยังต้องมีการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเจรจาเข้าโครงการนี้ได้ อีกทั้งยังควรพิจารณาเรื่องเติมสภาพคล่องหรือเงินทุนหมุนเวียนใหม่มาเสริม ให้ประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงานมาได้ เช่น โครงการมีที่มีเงิน โครงการสินเชื่ออิ่มใจ แบบที่ธนาคารออมสินดำเนินการเพื่อให้เอสเอ็มอีหลายๆ กลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงซอฟต์โลนในรูปแบบอื่น

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า ส่วนใหญ่ผู้ได้รับประโยชน์คือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็มีความกังวลว่าด้วยทรัพย์สิน ที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินกู้ที่ได้รับการพักหนี้ไว้ มีความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ทางสมาพันธ์มีความเห็นว่าทรัพย์สินนอกเหนือจากของบริษัท ขยายความช่วยเหลือไปยังส่วนอื่นๆ อย่างการนำที่อยู่อาศัยของผู้ที่เดือดร้อนมาเข้ามาตรการนี้ได้ ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันว่า ควรมีการทบทวนมาตรการนี้ จะเห็นว่าในหลายประเทศมีการขายทรัพย์สินออกไปให้กับนายทุนขนาดใหญ่ หรือมีการปรับมาตรการให้เข้าถึงได้ยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในการสร้างความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย ระหว่างธนาคารกับผู้ประกอบการ ต้องมีการประเมินปัญหาเป็นระยะๆ เพื่อจะได้มีการปรับเงื่อนไขถ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องมาดูว่าทำอย่างไรที่ให้ผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน กลไกการพิจารณาต้องรวดเร็ว

เห็นได้ว่าต้องมีการประเมินโครงการอยู่เป็นประจำ ว่าทำไมเม็ดเงินการช่วยเหลือถึงได้ล่าช้า ไม่เช่นนั้นสินทรัพย์ต่างๆ จะถูกขายไปยังต่างชาติหรือนักลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเอสเอ็มอีไทยในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง