รีเซต

เอสเอ็มอีจี้รัฐเร่งเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ กระทุ้งลดต้นทุน ลดหนี้ เร่งคนละครึ่งเฟส 5 ภาคแรงงาน

เอสเอ็มอีจี้รัฐเร่งเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ กระทุ้งลดต้นทุน ลดหนี้ เร่งคนละครึ่งเฟส 5 ภาคแรงงาน
มติชน
9 พฤษภาคม 2565 ( 18:29 )
53

ข่าววันนี้ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงข้อเสนอสมาพันธ์ต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า สมาพันธ์สนับสนุนมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคตที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกษตรกร และแรงงาน ต้องเผชิญกับค่าครองชีพ และต้นทุนการเกษตร การประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาระหนี้ ต้นทุนทางการเงินที่ยิ่งเล็ก ดอกเบี้ยยิ่งแพง และรายได้ลด รายจ่ายเพิ่ม คนจนแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาตรการภาครัฐที่ผ่านมาหลายเรื่องดีมากแต่ขาดความต่อเนื่อง อาทิ มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับเอสเอ็มอี (SME-GP) ที่มีนโบายระบุไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ถูกยกเลิกไป ทั้งๆ ที่ปี 2564 สามารถทำได้กว่าร้อยละ 44 ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างมาก และควรนำกลับคืนมา

 

นายแสงชัย กล่าวต่อว่า แนวทางการฟื้นฟูท่องเที่ยวที่คำนึงถึงระบบนิเวศการท่องเที่ยวทั้งระบบ โดยมุ่งเป้าวิสาหกิจชุมชน รายย่อย รายย่อม และรายกลาง (เอสเอ็มอี) คือ 1.ผู้ประกอบการที่พัก โรงแรม รีสอร์ตที่ได้รับผลกระทบ 2.ผู้ประกอบการร้านอาหารกลางวันกลางคืน 3.ผู้ประกอบการของฝาก ของที่ระลึก 4.ผู้ประกอบการอีเวนต์ 5.ผู้ประกอบการนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และขนส่งนักท่องเที่ยว เป็นต้น และควรมีแพลตฟอร์มสื่อสารเข้าถึงการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ท่องเที่ยวทั่วไทย เพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยและต่างประเทศเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

“ดังนั้น อยากให้รัฐเร่งดำเนินการคือ 1.แก้หนี้ เติมทุน ฟื้นฟูท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นหนี้เสียกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ภาครัฐควรพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ และภาษีธุรกิจ 1-3 ปี เป็นต้น อีกทั้งเติมทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มต้นใหม่ ดอกเบี้ย 1-2% และมีระบบพี่เลี้ยงช่วยเหลือประคองธุรกิจให้คำปรึกษาฟื้นฟูกลับมาใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 2.มาตรการส่งเสริมแพลตฟอร์มนวัตกรรมการท่องเที่ยวของ Start up และ SMEs ไทย อาทิ วางแผนท่องเที่ยว จองที่พัก อุดหนุนสินค้าชุมชน SMEs เพื่อให้เกิด Digital tourism economy และยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOP SME ร่วมกัน และ 3.คนละครึ่งท่องเที่ยวไทย สนับสนุนออกมาตรการให้เร่งด่วน

 

“รวมถึงคนละครึ่งเฟส 5 ภาคแรงงาน ได้แก่ 1.เน้นกลุ่มแรงงานไทยรายวัน หรือค่าแรงต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่ได้รับผลกระทบค่าครองชีพ อาทิ อาหาร ก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทางโดยสารสาธารณะ เป็นต้น และ 2. มุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย รายย่อย เชื่อมโยงกับข้อ 1 อาทิ ร้านค้าชุมชน ร้านค้าธงฟ้า ร้านค้าปลีก ร้านอาหารรายย่อยในท้องถิ่น โดยต้องมีมาตรการความช่วยเหลือยกเว้นภาระภาษีให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อความมั่นใจและช่วยบ่มเพาะ ให้สิทธิประโยชน์พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน สินค้า บริการ และผู้ประกอบการรวมทั้งแรงงานสร้างความรู้ ความเข้าใจในการประกอบอาชีพ ธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในระบบต่อไป” นายแสงชัยกล่าว

 

นายแสงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการมีอาชีพ การจ้างงานเพิ่ม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ลดผลกระทบบัณฑิต ว่างงาน และผู้ว่างงานจากผลกระทบ COVID-19 อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น อาทิ 1.ภาครัฐ จ้างงานบัณฑิตพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและ SME โดยช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรม บัญชีครัวเรือนและธุรกิจ การบริหารการจัดการ และความเป็นผู้ประกอบการ 2.ภาคเอกชน กระตุ้นการจ้างงานเพิ่มของภาคเอกชนที่มีการขยายกิจการ เติบโตดีขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการจ้างงาน 3.มาตรการเปลี่ยนว่างงานเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บ่มเพาะ จับคู่สร้างผู้ประกอบการเริ่มต้นใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพท้องถิ่น ชุมชนที่มีช่องว่างทางการตลาด และส่งเสริมระบบธุรกิจเฟรนไชส์เอสเอ็มอีไทยกับผู้ว่างงาน เป็นต้น

 

“เอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศมองว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจจะหามาตรการกระตุ้นอย่างเดียวไม่ได้ ต้องกระทุ้งให้เกิดกระบวนการแก้ไขหนี้อย่างเป็นระบบต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย เพราะจะเป็นวังวนหนี้ ขายได้ ใช้หนี้ไม่พอ และต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดในห่วงโซ่ที่ก่อให้เกิดสินค้าราคาแพงเกินจริง สถานการณ์นี้ ‘ทำน้อยได้มาก’ ไม่พอ ต้อง ‘ทำมากให้ประชาชนลดผลกระทบมากที่สุด’ อาทิ เจรจาประเทศคู่ค้าสำคัญ จัดหาปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ ปุ๋ย อาหารสัตว์ พลังงานต้นทุนต่ำ และแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับไทย รวมทั้งต้องมีแผนส่งเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ โดยส่งเสริมการลดการนำเข้า พึ่งพาภายในประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เป็นต้น ซึ่งหวังว่าเรื่องนี้รัฐจะนำพิจารณาและเร่งดำเนินการ” นายแสงชัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง