รีเซต

ศรีสุวรรณ ชี้ เวทีประชาพิจารณ์ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศรีสุวรรณ ชี้ เวทีประชาพิจารณ์ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มติชน
11 กรกฎาคม 2563 ( 14:21 )
178
ศรีสุวรรณ ชี้ เวทีประชาพิจารณ์ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผลักดันโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ จ.สงขลา โดยอาศัย พรบ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 ) และมีมติ ครม.อีกครั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ใช้พื้นที่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม รวมเนื้อที่16,753 ไร่ และจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือประชาพิจารณ์ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ในวันที่ 11 กรกฎาคม นี้นั้น

 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการดังกล่าว ไม่อาจยอมรับได้ว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะตาม มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมี ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา ดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนต้องดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประกาศกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 48 และ มาตรา51/4 พรบ.ส่งเสริมและ รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศดังกล่าวโดยละเอียด จะต้องเปิดให้ประชาชนให้ความเห็นไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงและมีการรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ

 

“ แต่ ศอ.บต.กลับอาศัยกฎหมายพิเศษดำเนินการ มีการระดมตำรวจและฝ่ายความมั่นคงจาก จ.สงขลา จ.ตรัง จ.พัทลุง จ.สตูล มาควบคุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า 4-5 กองร้อย ทำให้การแสดงออกของประชาชนไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่และไม่เป็นอิสระ ร่วมทั้งการนำ กอ.รมน.ภาค4 ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง แต่กลับมาขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิดหน้าที่ จึงไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการดังกล่าวได้ การจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้จึงเสียเปล่า ขัดต่อกฎหมาย และหาก ศอ.บต.ยังนำการประชุมครั้งนี้ไปแอบอ้าง ประชาชนสามารถนำความขึ้นฟ้องร้องต่อศาลได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง