รีเซต

เชื่อ ‘ศบค.’ เปิดธุรกิจเพิ่ม-ปรับเวลาเคอร์ฟิว หนุนบรรยากาศฟื้นมากขึ้น หวังพ้น 7 วัน ผ่อนคลายเพิ่มอีก

เชื่อ ‘ศบค.’ เปิดธุรกิจเพิ่ม-ปรับเวลาเคอร์ฟิว หนุนบรรยากาศฟื้นมากขึ้น หวังพ้น 7 วัน ผ่อนคลายเพิ่มอีก
มติชน
28 กันยายน 2564 ( 05:37 )
36

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ได้ขยายระยะเวลาประกาศพรก.ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงต่ออายุมาตรการเคอร์ฟิว แต่ปรับลดระยะเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเป็น 22.00-04.00 น. และให้เปิดร้านเสริมสวย บริการนวด สปา สถานเสริมความงาม โรงภาพยนตร์ รวมถึงเล่นดนตรีสดในร้านอาหารได้ตามปกติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นสมาคมฯ ประเมินว่าเป็นการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และฟื้นตัวได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดธุรกิจประเภทอื่นๆ ได้เพิ่มเติม ซึ่งสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนคลายการเปิดจำหน่ายอาหารได้ถึงเวลา 22.00 น. เพราะตอนแรกคิดว่ารัฐบาลจะปรับลดเวลาเคอร์ฟิวให้เป็น 23.00 น. จึงขอขายอาหารได้ถึงขายเวลา 22.00 น. แต่เมื่อรัฐขยับเวลาเคอร์ฟิวถึง 22.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สมาคมฯ ขอขายอาหารได้ถึงช่วงเวลาดังกล่าว ก็เข้าใจว่าเป็นไปไม่ได้แน่นอน เนื่องจากเวลาชนกัน โดยจากการหารือกับทีมทำงานของรัฐบาล พบว่า ความจริงแล้วรัฐพร้อมจะพิจารณาให้เปิดขายอาหารได้ถึง 22.00 น.แล้ว แต่เนื่องจากขณะนี้ได้ผ่อนคลายเปิดธุรกิจประเภทอื่นๆ พร้อมกันค่อนข้างมาก จึงขอประเมินผลและสถานการณ์หลังจากผ่อนคลายมาตรการแล้ว ประมาณ 7 วัน หรือหลังจากวันที่ 7 ตุลาคมนี้ หากสถานการณ์ดีขึ้น ไม่พบว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรับสูงขึ้นอีก จะหารือเพื่อผ่อนคลายมาตรการอีกครั้ง

 

 

“ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงปรับใจ เพราะที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันบ้างแล้ว จึงได้ขอผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหารได้ถึง 22.00 น. ซึ่งจะสอดคล้องกับการเปิดเมืองในช่วงเดือนตุลาคมนี้ด้วย แต่เมื่อมาดูจังหวะเวลาจริงๆ กลับพบว่า ทุกอย่างคลาดกันไปหมด ทั้งการเปิดเมืองที่ต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม และการปรับเวลาเคอร์ฟิว ที่คาดว่าจะปรับให้เป็น 23.00 น. หรือเพิ่มจากเดิม 2 ชั่วโมง แต่เมื่อเพิ่มจริงๆ เป็นเวลา 22.00 น. หรือเพิ่มให้ 1 ชั่วโมงนั้น เนื่องจากสาธารณสุขและศบค. ขอให้ประเมินผลหลังการทยอยปรับเวลาของมาตรการเคอร์ฟิวก่อน จากนั้นจะประเมินอีกรอบ ว่าควรขยายให้เพิ่มได้อีกหรือไม่” นางฐนิวรรณ กล่าว

 

 

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า สำหรับมาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง หรือมาตรการควบคุมและป้องกันในสถานประกอบการ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ที่ผู้ประกอบการต้องทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมทุก 1-2 ชั่วโมง หมั่นทำความสะอาดสินค้า ทำความสะอาดระบบปรับอากาศทุก 3 เดือน ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศเฉพาะที่ รวมทั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการห้ามการรวมตัวกันจุดใดจุดหนึ่ง 2.ด้านพนักงานปลอดภัย ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อโควิดมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน และให้คัดกรองความเสี่ยงพนักงานทุกวันด้วยระบบไทยเซฟไทย รวมถึงจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (เอทีเค) ให้พนักงานตรวจทุกๆ 7 วัน พร้อมกำชับให้งดรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน ระหว่างพัก และงดกินอาหารร่วมกัน และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล และ 3.ด้านผู้ใช้บริการปลอดภัย ซึ่งให้คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าร้านด้วยแพลตฟอร์มไทยเซฟไทย หรือแอพพลิเคชันที่กำหนดไว้ รวมถึงลูกค้าจะต้องได้รับวัคซีนครบโดส และตรวจเอทีเค ผลเป็นลบอย่างน้อยทุก 7 วันด้วย โดยเบื้องต้นได้รับคำยืนยันจากสาธารณสุขแล้วว่า ขอเลื่อนการใช้มาตรการโควิด ฟรี เซ็ตติ้ง ออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน หรือพ้นเดือนตุลาคมนี้ ก่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มมากที่สุด รวมถึงเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น โดยมองว่าหากเลื่อนไปใช้อย่างน้อยในเดือนพฤศจิกายนนี้ ความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนน่าจะมีความพร้อมมากขึ้น

 

 

“ในช่วง 1 เดือนต่อจากนี้ รัฐบาลจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจถึงการใช้ชุดตรวจเอทีเคให้มากขึ้น ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเท่าใด เพื่อให้ลูกค้าและร้านค้าสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงต้องทำให้ราคาชุดตรวจมีความเหมาะสมและเป็นบรรทัดฐานด้วย นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาการอนุญาตให้ขาย ซื้อ นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แล้ว โดยเฉพาะในร้านอาหาร เนื่องจากแม้ขณะนี้จะไม่เปิดให้นั่งดื่มได้ แต่ก็มีการแอบดื่มกันอยู่แล้ว จึงมองว่าหากเปิดให้ดื่มและจำหน่ายได้ถูกต้องตามปกติ แต่มีมาตรการออกมาควบคุมดูแลอย่างรัดกุมจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมาได้หารือกันว่า หากแหล่งประกอบการใดทำผิดกฎหมาย หรือไม่ทำตามกฎด้านสาธารณสุข ก็จะพิจารณาสั่งปิดเฉพาะกรณี ไม่หว่านแห่แล้ว จึงเชื่อว่าส่วนนี้จะทำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎที่มีอย่างดีที่สุด” นางฐนิวรรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง