“สังคมอุดมปริญญา” หรือกระดาษแผ่นเดียวมีค่ามากกว่าความรู้?
นับเป็นประเด็นอย่างมากในการคัดเลือก สว. ที่แคนดิเดตท่านหนึ่งถูกตั้งคำถามถึงที่มาของวุฒิการศึกษา เป็นที่มาของการตรวจสอบไปถึงต้นตอของการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา รวมถึงความน่าเชื่อถือ และ มาตรฐานของสถาบันดังกล่าว
แต่คำตอบในเรื่องนี้อาจไม่สำคัญเท่ากับคำถาม นำไปสู่การเปิดประเด็นเรื่องค่านิยมการครอบครองใบปริญญามีมีค่ามากกว่าการเล่าเรียนเพื่อสะสมองค์ความรู้
“ซื้อปริญญาห้องแถว” ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะประเด็นการซื้อปริญญาบัตรปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ผู้มีชื่อเสียง หรือ แม้แต่บุคคลระดับสูงทางการเมือง
คำถามที่ตามมา นั่นคือ เหตุใดประเทศไทยถึงได้ “ให้ค่าปริญญา” มากมายถึงเพียงนี้? กระดาษแผ่นเดียวมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวไทยมากมายเพียงใด? ติดตามไปพร้อมกับบทความนี้
ใบปริญญา = ใบเบิกทาง
จริง ๆ แล้ว การให้คุณค่ากับใบปริญญาของไทย อาจจะต้องพิจารณาใน “ภาพใหญ่” กว่านั้น เพราะในเอเชียแทบทุกประเทศก็ไม่ต่างจากเรา และสาเหตุหนึ่งที่พอจะฟังขึ้น นั่นคือ เพราะปริญญาบัตรนั้น “เปลี่ยนชีวิต” คน ๆ หนึ่งได้
ใน “ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory)” ของหลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีใจความสำคัญว่า จะมีประเทศในแก่นแกน (Cores) และประเทศรอบ ๆ ข้าง (Peripheries) และประเทศในแก่นแกนจะพัฒนามากกว่าประเทศรอบ ๆ ข้างเสมอ เมื่อเป็นแบบนี้ ประเทศรอบ ๆ ข้างจะจะเป็นได้เพียง “ลูกไล่” ให้แก่ประเทศแก่นแกน หรือรอคอยเพียงให้ประเทศแก่นแกน “เอารัดเอาเปรียบ” เสมอ
ตัวอย่างเช่น สมัยก่อน ประเทศตะวันตกล่าอาณานิคมเพื่อดูดทรัพยากรทั้งจากละตินอเมริกาและแอฟริกามาเลี้ยงประชาชนในประเทศ หรือในปัจจุบัน ประเทศเอเชียหลายประเทศ ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่แบบจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็เป็นได้เพียงฐานทางการลงทุน ให้บรรดารัฐบาลหรือนายทุนใหญ่ ๆ ของประเทศโลกที่ 1 แบบสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป เข้ามาดูดทรัพยากรออกไปเสียจนแทบจะหมดสิ้น
แน่นอน ไม่ว่าประเทศจะยิ่งใหญ่เพียงไร คนจนย่อมมีจำนวนมากกว่าคนรวยเสมอ แต่คนจนในประเทศแก่นแกนนั้น ได้รับทรัพยากรที่ดูดมาจากประเทศรอบ ๆ ข้าง จนระดับความจนนั้น ไม่ได้มีเท่ากับคนรวย แต่อาจจะไม่ได้ถึงขั้น “อดอยาก” ผิดกันกับประเทศรอบ ๆ ข้าง ที่ถึงขั้นนั้นได้เลยทีเดียว
สิ่งนี้เรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำระดับโลก” และเกี่ยวข้องกับเรื่องการบ้าปริญญาบัตรโดยตรง เนื่องจากความจนของประเทศรอบ ๆ ข้างนั้นจนแบบสุด ๆ การหวังว่าจะเติบโตด้วยการขายแรงงาน การทำธุรกิจ หรือการค้า ย่อมได้รับค่าตอบแทนและกำไรน้อยกว่าแรงงานในประเทศแก่นแกนแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะสังคมเอเชีย มีลักษณะที่แบ่งชนชั้นวรรณะชัดเจน หากไม่ได้เกิดมาเป็นมหาเศรษฐี หรือ ครอบครัวชนชั้นนำในสังคม ย่อมเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะมั่งคั่ง อย่างนั้น สิ่งใดจะเป็น “ใบเบิกทาง” ให้ลืมตาอ้าปากได้ดีที่สุด คำตอบก็คือ “การได้รับการศึกษา” ซึ่งสิ่งที่การันตีว่ามีการศึกษา นั่นคือ ปริญญาบัตร
ทำให้นึกถึง “จอหงวน” ของจีนในสมัยก่อน ที่เปิดให้ใครหน้าไหนก็ได้ทั่วแผ่นดินอ่านหนังสือเข้ามาสอบในเขตพระราชฐานเพื่อเป็นขุนนาง ของไทยก็เช่นเดียวกัน จากที่สมัยก่อนต้องมีการฝากตนเป็นเด็กในเรือนของเจ้านาย เพื่อให้มีโอกาสได้เป็นขุนนางตามมูลนาย ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ความสามารถในการสอบแข่งขัน แน่นอน อัตราการแข่งขันสูงมาก เพราะใคร ๆ ก็อยากยกสถานะตน การสอบได้คือทุกอย่างของชีวิต
แต่ในยุคปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุด การศึกษาก็จะสามารถการันตีได้ว่า อย่างน้อย ๆ ก็จะสามารถที่จะมีวุฒิการศึกษาเพื่อเข้ารับราชการผ่านการสอบแข่งขัน หรือแม้แต่การใช้เพื่ออัพเงินเดือนได้
และเมื่อการศึกษาเริ่มกลายเป็นของที่สามัญชนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า เท่ากับว่า ปริญญาบัตรนั้น “ไม่เพียงพอ” ที่จะสร้างการการันตีว่าจะได้รับการยกสถานะผ่านสิ่งนี้จริง ๆ ดังนั้น การได้รับ “ปริญญาบัตรขั้นสูง” จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความต้องการเพิ่มมากขึ้น
ความรู้ < ปริญญาบัตร
จะเห็นได้ว่า ปริญญาใบเดียว อาจจะไม่เพียงพอให้การันตีว่าเราจะยกสถานะของตนเองได้ ดังนั้น การศึกษาในระดับสูง อย่างปริญญาโทและปริญญาเอก จึงเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าการไม่ได้รับปริญญาขั้นสูงอาจทำให้ชีวิตมีความเสี่ยงที่จะ “ร่วงหล่น” มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางแก้ไขของผู้ที่ไม่มีความรู้เพียงพอ หรือ อาจจะมีมันสมองดีแต่ขี้เกียจ ก็แก้ปัญหาด้วยการซื้อปริญญาบัตรเสียเลย!
เรื่องนี้มีแต่ได้กับได้จากทุกฝ่าย เราได้ปริญญาขั้นสูงไปดำรงและสร้างสถานภาพทางชนชั้น โดยที่ไม่ต้องไปเข้าคลาสให้มากความ ฝ่ายสถานศึกษาได้เงินค่าขายปริญญาบัตรไปรันธุรกิจ และภาครัฐได้เงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภาคการศึกษา โดยไม่ต้องไปอุดหนุนผ่านรัฐสวัสดิการให้เปลืองงบประมาณ
หรือก็คือ ความสำคัญของการศึกษา ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้เรียนอยากที่จะได้รับ “ความรู้” หรือใฝ่เรียนรู้มากน้อยเพียงไร แต่อยู่ที่ว่าปริญญาบัตรนั้น “ขายออก” ได้จำนวนเท่าไร ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ จะเรียกว่า “การค้าการศึกษา”
งานศึกษา Fighting contract cheating and ghostwriting in Higher Education: Moving towards a multidimensional approach และ Plagiarism and ghostwriting: The rise in academic misconduct ชี้ให้เห็นว่า พวกแรก ๆ ที่ริเริ่มการค้าการศึกษานั้น ส่วนใหญ่เป็น “พนักงานประจำ” ทั้งหลาย อย่าลืมว่า อาชีพเหล่านี้ต้องทำงานแบบ Full-time หรืออาจจะต้องทำล่วงเวลาเสาร์-อาทิตย์
ทำให้แม้จะใฝ่เรียนรู้มากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะเต็มที่กับการศึกษาระดับสูงได้ แต่ว่าการที่จะขึ้นตำแหน่งสูง ๆ ในราชการ จำเป็นที่จะต้องมีวุฒิการศึกษาที่มากกว่าปริญญาตรี ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเพียงขั้นอาวุโสยันเกษียณ
ดังนั้น ทางออกที่ง่ายที่สุดคือสิ่งใด? ก็คือการ “จ่ายครบจบแน่” เป็นที่ตั้ง และเรื่องดังกล่าวนี้ ก็ได้ลุกลามไปยังทุกอาชีพทุกวงการ ให้หันมาร่วมอยู่ในการค้าการศึกษาทั้งสิ้น
แต่ในบางครั้งก็ใช่ว่าจะสำเร็จการศึกษาได้ง่าย ๆ เพราะหากซื้อปริญญาบัตรได้ในทันที ก็จะทำให้สถานศึกษาเสียชื่อเสียงและเป็นที่ครหาแบบโจ่งครึ่มเกินไป
ดังนั้น จึงเกิดวิธีการว่าจ้างให้เขียนวิทยานิพนธ์แทน หรืออาชีพ “Ghostwriter” ขึ้นมา เพื่ออย่างน้อยให้มีชิ้นงานปรากฏ ดูดีกว่าการได้รับปริญญาขั้นสูงเฉย ๆ
ซึ่งจริง ๆ ก็ว่าไม่ได้ ในโลกที่เวลานั้นเป็นเงินเป็นทอง การได้รับปริญญามาแบบไม่ต้องเสียเวลา ย่อมเป็นเรื่องที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกของทุนนิยม
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็เกิดคำถามตามมาว่า แบบนี้ “ความรู้” จะจำเป็นและดำรงอยู่ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ตอบยากมากที่สุด
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ World System History
- หนังสือ Neoliberalism and Education
- บทความ The Modern World System : Capitalist Agriculture and the Origins of the European World-Economy in the Sixteenth Century
- บทความ Social mobility and economic development
- บทความ Fighting contract cheating and ghostwriting in Higher Education: Moving towards a multidimensional approach
- บทความ Plagiarism and ghostwriting: The rise in academic misconduct