ปี 2567 “ฝีดาษลิง” เกิดการระบาดใหญ่ พบได้ทั้งเพศชาย-หญิง มีความรุนแรงมาก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุข้อความว่า
การระบาดของโรคฝีดาษวานร Mpox ในราวปี นี้พ.ศ 2546 เกิดการระบาดในอเมริกา เป็นการนำเข้าหนูจากแอฟริกา เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง คือ Giant Gambian rat หนูที่นำเข้ามีเชื้อ Mpox ได้แพร่กระจายเข้าสู่ แพรี่ด็อก เป็นสัตว์ตระกูลฟันแทะ และหลังจากนั้นก็ระบาดเข้าสู่คน และมีการติดต่อระหว่างคนสู่คน จึงเกิดการระบาดขึ้น การระบาดสามารถควบคุมได้
หลังจากนั้นก็มีพบในคน ประปราย ส่วนใหญ่ถ้าเป็นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจะพบในแอฟริกา นอกแอฟริกา ส่วนใหญ่จะพบเป็นรายราย และมีการติดโรคมาจากสัตว์ในตระกูลฟันแทะ หรือตระกูลหนู
ในปีพ.ศ 2565 พบมีการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกา โดยเริ่มจากสเปน หลังเทศกาล prime festival และได้กระจายไปทั่วโลกร่วมร้อยประเทศ มีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 97-98 จะเป็นในผู้ใหญ่ เพศชาย อายุตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยกลางคน เป็นการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มของ ชายรักชาย โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
นับตั้งแต่ที่มีการระบาดนอกแอฟริกา มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยร่วมแสนราย และมีการเสียชีวิตประมาณ 200 ราย ดังนั้นในภาพรวมโรคนี้ไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ หรือประมาณ 0.2% หรือ 1 ใน 500 ราย ไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 2 Clade 2b
สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดจนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยมากกว่า 800 ราย เป็น เพศชาย 97.5% และส่วนใหญ่ไม่รุนแรง
ปีนี้ 2567 เกิดการระบาดใหญ่ ในทวีปแอฟริกา เช่น คองโก บุรุนดี เคนย่า รวันดา มากกว่า 15,000 ราย และมีการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 3.4 (537 ราย จาก 15,600 ราย) มีการเสียชีวิตในเด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตรวจไวรัสพบว่าเป็น กลุ่ม 1 Clade 1b ซึ่งแตกต่างกับการระบาดก่อนหน้านี้ในประเทศนอกแอฟริกา จึงทำให้เกิดความกังวลว่าโรคนี้จะระบาดออกไปทั่วโลก การติดต่อของโรคจะไม่เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา ที่ระบาดนอกแอฟริกา และพบได้ทั้งเพศชายและหญิง มีความรุนแรงมากกว่ามาก
ภาพจาก AFP