รีเซต

“หมอยง” แนะแนวทางควรจะไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือไม่

“หมอยง” แนะแนวทางควรจะไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือไม่
TNN ช่อง16
26 สิงหาคม 2567 ( 10:17 )
17

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า เราควรจะไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรหรือไม่


ดังได้กล่าวมาแล้วในหลายตอน วัคซีนมีจำกัดและมีราคาแพงมาก วัคซีนใน  Generation ที่ 3  ที่ใช้กันอยู่นี้ โดยทฤษฎีแล้วน่าจะปลอดภัยกว่า Generation ที่ 1 และ 2  แต่ก็ยังเป็นวัคซีนใหม่ คงจะต้องติดตามอาการข้างเคียงหลังจากใช้แล้วไปเป็นจำนวนมาก และโรคฝีดาษวานร ความรุนแรงก็ไม่ได้สูงมาก คงต้องติดตามสถานการณ์ของสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดออกมานอกแอฟริกา 

ดังนั้น คนปกติธรรมดาทั่วไปไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ยังไม่ควรฉีด เราจะแนะนำให้ในกลุ่มเสี่ยงสูง ในกลุ่มชายรักชาย มีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก การเดินทางไปยังแหล่งระบาดของโรค


นอกจากนี้ ยังโพสต์อีกว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษ การพัฒนาวัคซีนป้องกันฝีดาษ ได้มีการพัฒนามาโดยตลอดจนปัจจุบันเข้าสู่ Generation ที่ 3


ในอดีตให้ทรพิษสร้างปัญหามีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก คุณหมอเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ได้สังเกตว่าหญิงรีดนม ติดฝีดาษวัวเป็นตุ่มที่มือ และเมื่อเกิดการระบาดของไข้ทรพิษ หญิงรายนี้ไม่เป็นโรค จึงใช้หนองฝีของฝีดาษวัว มาปลูกให้กับเด็ก เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ สามารถป้องกันได้อย่างดี


วัคซีนใน Generation 1  จึงมีกระบวนการทำโดยการใช้เชื้อฝีดาษ Vaccinia ใส่เข้าทางผิวหนังของวัว และวัวก็จะติดโรค ในวันที่ 7 หลังรับเชื้อ ก็ล้มวัว และเอาน้ำเหลืองของวัว มาทำให้แห้งด้วยความเย็น เก็บไว้แล้วจึงค่อยมาละลาย ปลูกให้กับมนุษย์ ในหนองฝีที่เก็บไว้จะมีเชื้อฝีดาษวัว นับเป็นการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ กระบวนการทำดังกล่าว ที่ต้องคำนึงคือเรื่องความสะอาด สิ่งปลอมปนมากับน้ำเหลืองของวัว หรือชีววัตถุ แต่ก็ได้มีการใช้มายาวนานมาก จนให้ทรพิษหมดไป ต่อมาเมื่อมีการกล่าวถึงสงครามเชื้อโรค  อาจจะมีการใช้ไวรัสไข้ทรพิษมาเป็นอาวุธ จึงมีการพัฒนาวัคซีนให้ดีขึ้น


วัคซีนใน Generation ที่ 2  ใช้กระบวนการเพาะเลี้ยงไวรัสในจานเพาะเลี้ยง แต่ก็ยังคงใช้ไวรัสชนิดเดียวกันอยู่ โดยแทนที่จะได้ไวรัสจากวัว ก็มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง สามารถกำหนดขนาดและปริมาณของไวรัสได้เป็นอย่างดี และความปลอดภัยของการปนเปื้อนก็ดีกว่า แต่วิธีการสร้างภูมิต้านทานก็ยังใช้วิธีการปลูกฝี การปลูกฝีมีอาการข้างเคียงหลายอย่างนอกจากเป็นแผลแล้ว เชื้อหนองฝีอาจจะกระจายโดยเฉพาะคนภูมิต้านทานต่ำ หรือกระจายไปอยู่ที่อื่น จึงมีการพัฒนาวัคซีนต่อ


วัคซีนใน Generation ที่ 3  เป็นการใช้เชื้อตัวเดียวกันคือ Vaccinia เอามาทำให้อ่อนฤทธิ์จนเชื้อนั้นไม่สามารถก่อโรคในคนได้ ในกลุ่มนี้ยังมีการพัฒนาต่อโดยใช้เชื้อสายพันธุ์อ่อนฤทธิ์พัฒนาไม่ให้สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อแบ่งตัวไม่ได้ก็ไม่สามารถที่จะก่อโรคได้ และวิธีการให้จึงเป็นการฉีด และต้องให้ถึง 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน อย่างที่วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ยังอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้ผลิต จึงมีราคาแพงมาก 


อย่างไรก็ตาม วัคซีนทุกชนิดมีอาการข้างเคียง และอาการข้างเคียงของวัคซีนฝีดาษในอดีต ที่มีการกล่าวถึงอาการข้างเคียงที่รุนแรง คือหลังให้วัคซีนเกิดสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

วัคซีนในเจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่ใช้กันอยู่นี้ เป็นการพัฒนาไวรัสให้ออกฤทธิ์ และไม่สามารถแบ่งตัวได้ แต่ก็ ยังเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างใหม่ การเกิดอาการข้างเคียงคงจะต้องติดตามหลังการใช้เป็นจำนวนมาก  

วัคซีนมีราคาแพงและอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงให้วัคซีนเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูงเท่านั้น



ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง