รีเซต

แพทย์แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนฝีดาษลิง ประชาชนทั่วไปยังไม่จำเป็น

แพทย์แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนฝีดาษลิง  ประชาชนทั่วไปยังไม่จำเป็น
TNN ช่อง16
23 สิงหาคม 2567 ( 10:57 )
21

รองศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย ระบุถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงของศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย พบว่า สถิติการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงที่คลินิกนิรนามศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2567 มีผู้เข้ารับบริการแล้วกว่า 400 โดสและยังมีประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยอาการข้างเคียงหลังฉีด พบว่า มีอาการปวด บวมแดง คลื่นไส้ คล้ายกับวัคซีนทั่วไป 


ทั้งนี้ ทางสภากาชาดไทย ได้ดำเนินการ นำเข้าวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงตั้งแต่ช่วงแรกที่พบกันติดเชื้อ โดยมีวัคซีนสำรองประมาณ 2,000 โดส ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันครอบคลุมทุกสายพันธุ์ 


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส ยังระบุด้วยว่า วัคซีนฝีดาษลิงยังไม่จำเป็นต้องฉีดทุกคน แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศซึ่งพบมีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ตามข้อบ่งชี้ต้องรับวัคซีนคนละสองเข็ม ห่างกัน 28 วัน สามารถเลือกฉีดได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ในราคาเข็มละ 8,500 บาท  วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ในราคาเข็มละ 2,200 บาท 


ส่วนในกรณีผู้ที่เคยรับการปลูกฝีดาษมาก่อนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ที่เกิดก่อนปี 2523 มีคำแนะนำว่ายังไม่จำเป็นต้องเข้ารับวัคซีน แต่หากเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงขอให้เข้ารับวัคซีนฝีดาษลิงเพิ่มอีกหนึ่งเข็ม เสมือนเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันโรค 


ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลอีกว่าใน กลุ่มผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงหากเข้ารับวัคซีนภายใน 4 วันแต่ไม่เกิน 14 วัน ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หรือหากติดเชื้ออาการป่วยจะไม่รุนแรง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง