ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2565 ทุกธนาคาร อัปเดตล่าสุด แบงก์ไหนน่าสนใจบ้าง?
ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ มีที่ไหนที่อัปเดตแล้วบ้าง เป็นคำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ เพราะการเก็บเงินไว้กับธนาคารก็ยังเป็นวิธีคลาสสิค ง่าย ไม่ยุ่งยาก แถมยังมี ดอกเบี้ย เป็นผลตอบแทนด้วย แม้จะไม่มากเท่ากับการการออมผ่านกองทุนรวมหุ้น หรือตราสารหนี้ต่างๆก็ตาม
อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
ดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นผลตอบแทนที่ผู้ฝากเงินได้รับจากการนำเงินมาฝากไว้กับสถาบันการเงิน โดยอัตรา ดอกเบี้ย มักอยู่ในลักษณะร้อยละต่อปี ที่สถาบันการเงินจ่ายให้กับผู้ฝากเงินเพื่อเป็นผลตอบแทนในการนำเงินมาฝากไว้กับสถาบันการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีหลายประเภท หลายอัตรา โดยทั่วไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฝากเงินและเงื่อนไขการถอนเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน หรือ 6 เดือน
ดังนั้น เราจึงควรคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้เงิน และผลตอบแทนที่เราต้องการ ก่อนตัดสินใจเลือกฝากเงิน เพื่อที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฝากเงินนั้นมากที่สุด
ดอกเบี้ยทบต้นคืออะไร?
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ออมก่อน รวยก่อน” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอานุภาพของดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest Rate) ซึ่งพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ดอกเบี้ยของดอกเบี้ย นั่นเอง
ยกตัวอย่างว่า เรานำเงิน 10,000 บาท ไปฝากธนาคาร และ อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ของธนาคาร เท่ากับ 5% ต่อปีทุก ๆ ปี เมื่อครบ 1 ปี เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,500 บาท (เงินต้น 10,000 บาท บวกดอกเบี้ย 500 บาท) เงิน 10,500 บาทนี้ จะกลายเป็นเงินต้นของปีที่ 2 และเมื่อครบ 2 ปี เงินของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 11,025 บาท (เงินต้น 10,500 บาท บวกดอกเบี้ย 525 บาท) และในปีถัด ๆ ไปดอกเบี้ยของปีนั้นจะถูกทบเข้ากับเงินต้น และกลายเป็นเงินต้นของปีถัดไป เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
จะเห็นได้ว่า ส่วนที่เป็น ดอกเบี้ย ไม่ได้คงที่ที่ 500 บาท แต่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นเพราะเงินต้นของเราก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีเช่นกัน เนื่องจากได้เอาดอกเบี้ยของปีก่อนมารวมเข้าเป็นเงินต้นด้วยแล้ว
ข้อมูลอัปเดต อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จากธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารพาณิชย์ | ฝากประจำ | |||
3 เเดือน | 6 เดือน | 12 เดือน | 24 เดือน | |
กรุงเทพ | 0.3750 | 0.5000 | 0.5000 | 0.5000 |
กรุงไทย | 0.3200 | 0.4000 | 0.4000 | 0.4500 |
กสิกรไทย | 0.3200 | 0.4000 | 0.4000 | 0.4500 |
ไทยพาณิชย์ | 0.3200 | 0.4000 | 0.4000 | 0.4500 |
กรุงศรีอยุธยา | 0.3200 | 0.4000 | 0.4000 | 0.4500 |
ทหารไทยธนชาต | 0.4000 | 0.5000 | 0.6000 | 0.6000 |
ยูโอบี | 0.4000 | 0.4000 | 0.5000 | 0.6000 |
ซีไอเอ็มบี ไทย | 0.4000 | 0.4000 | 0.5000 | 0.6000 |
ทิสโก้ | 0.6500 | 0.7000 | 0.8500 | 0.9500 |
เกียรตินาคินภัทร | 0.5000-0.6500 | 0.5500-0.7000 | 0.7500-0.9000 | 0.8500-1.0000 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | 0.8500 | 0.9500 | 1.0500 | 1.1000 |
ไอซีบีซี(ไทย) | 0.7000 | 0.8000 | 0.9500 | 1.0000 |
ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย | 0.9500 | 0.9500 | 1.2000-1.2500 | 1.2500 |
ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2565
หมายเหตุ เป็นข้อมูลล่าสุดที่ ธปท.ได้รับจากธนาคารพาณิชย์ ณ เวลาประมาณ 12.00 น.
เงื่อนไขบัญชีฝากประจำ
- อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำมักสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แต่หากถอนก่อนครบกำหนดอาจไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารประกาศ เช่น อาจได้รับดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์
- เสียภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ
- การนับวันครบกำหนดระยะเวลาการฝากประจำ โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่เดียวกันแต่เป็นเดือนถัด ๆ ไป เช่น ถ้าเริ่มฝากประจำ 3 เดือนวันที่ 5 มกราคม ก็จะครบกำหนดวันที่ 5 เมษายน
- หากวันครบกำหนดจ่ายคืนเงินฝากประจำตรงกับวันหยุดทำการของธนาคารให้ถือว่าวันทำการแรกต่อจากวันหยุดเป็นวันครบกำหนดคืนจ่ายคืนเงินฝาก โดยธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าสำหรับวันหยุดทำการนั้นด้วย ยกเว้นลูกค้าได้ทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรให้โอนเงินต้นและดอกเบี้ยไปเข้าบัญชีเงินฝากอื่นตั้งแต่วันที่ครบกำหนดจ่ายคืน
คำนวณดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
ก่อนจะตัดสินใจฝากประจำหลายคนอาจจะยังลังเลว่า ฝากประจำ แบบกี่เดือนดี ถึงจะคุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น คุณเอ ฝากประจำแบบ 3 เดือน กับแบงก์ บี อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี เริ่มต้นฝากวันที่ 1 มกราคม จำนวน 10,000 บาท โดยบัญชีนี้มีเงื่อนไขว่าหากไม่มีการถอนเงินต้นและดอกเบี้ยออกมาจะโอนเงินทั้งหมดไปเป็นบัญชีฝากประจำ 3 เดือนต่อไปเรื่อย ๆ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดไป จึงไปถอนเงินออกมา ดอกเบี้ย ที่คุณเอจะได้รับจริงหลังหักภาษีจะสามารถคำนวณได้ดังนี้
ข้อมูล-ภาพประกอบจาก :ศคง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดังนั้น ถ้าจะคำนวณ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ แบบ 3 เดือน ที่ คุณเอ จะได้รับในปีจะเท่ากับมูลค่าของเงินฝาก ณ วันที่ 1 มกราคม ปีถัดไป – มูลค่าของเงินฝาก ณ วันที่ 1 มกราคม ปีนี้ = 10,257.45 บาท – 10,000.00 บาท = 257.45 บาท หากวันที่ 1 มกราคม ปีถัดไป เอ ไม่ได้ถอนเงินต้นและดอกเบี้ยออกมา แต่ฝากเงินจำนวนดังกล่าวแบบเงิน ฝากประจำ ระยะเวลา 3 เดือนต่อเนื่องไป ในปีถัดไปเงินต้นที่จะถูกใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยในปีถัดไป จะเท่ากับ 10,257.45 บาทนั่นเอง ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยกรณีฝากประจำ 6 เดือน และ 12 เดือน ก็ยึดหลักคำนวณเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการออมแบบเปิดบัญเงินฝาก หรือจะลงทุนในกองทุนรวม หรือออมทอง ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ว่าจะเลือกแบบไหน รับความเสี่ยงมากได้มากหรือน้อย หากยังไม่กล้ารับความเสี่ยงสูงๆ การเปิดบัญชีเงินฝากประจำ หรือออมทรัพย์ก็น่าจะตอบโจทย์ที่สุด และยังเป็นการเริ่มต้นรักษาวินัยการออมขั้นเบสิคได้ดีทีเดียว
อ้างอิงข้อมูล : ศคง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ,ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพจาก : TNN ONLINE