รีเซต

เช็คสิทธิ ม.33 ม.39 ได้ "เงินบำเหน็จ-เงินบำนาญ" จากประกันสังคมกี่บาท พร้อมวิธีตรวจสอบเงินสมทบประกันสังคม

เช็คสิทธิ ม.33 ม.39 ได้ "เงินบำเหน็จ-เงินบำนาญ" จากประกันสังคมกี่บาท พร้อมวิธีตรวจสอบเงินสมทบประกันสังคม
Ingonn
23 พฤศจิกายน 2564 ( 10:10 )
55.3K
เช็คสิทธิ ม.33 ม.39 ได้ "เงินบำเหน็จ-เงินบำนาญ" จากประกันสังคมกี่บาท พร้อมวิธีตรวจสอบเงินสมทบประกันสังคม

เช็คสิทธิผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เมื่ออายุครบ 55 ปี สามารถรับ "เงินคืนประกันสังคม" หรือสิทธิรับเงินประกันสังคม "เงินบำเหน็จ-เงินบำนาญ" หรือที่เรียกว่า "เงินชราภาพ" ได้ โดยสามารถสามารถตรวจสอบการส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th ซึ่งวันนี้ TrueID จะมาสรุปขั้นตอนการคำนวณเงินสมทบประกันสังคม ที่ถูกหักทุกเดือน เดือนละ 5% ของเงินเดือน จะกลายเป็นเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ (บำเหน็จและบำนาญชราภาพ) แต่ละคนจะได้เงินเท่าไหร่ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

 

 

บำเหน็จ-บำนาญของประกันสังคม คืออะไร 

เงินประกันสังคมจะถูกหักทุกเดือน เดือนละ 5% ของเงินเดือนที่เราได้รับ หรือสูงสุดที่ 750 บาท แล้วจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก  ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ประกันว่างงาน และเงินชราภาพ ที่เราจะได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี ซึ่งมาจาก 3% ของฐานเงินเดือน

 

หากเราจ่ายเงินประกันสังคมเข้ามา ก็จะถูกหักเงินเข้ามาเป็น "เงินบำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม" หรือ "เงินออมชราภาพ" จำนวน 450 บาท นั่นเอง เงินออมชราภาพที่เราจะได้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เงินบำเหน็จ ที่จ่ายเป็นก้อนใหญ่ครั้งเดียว และ เงินบำนาญ ที่จะทยอยจ่ายเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต โดยไม่สามารถเลือกเองได้ว่าจะรับเป็น "บำเหน็จ" หรือ "บำนาญ" แต่จะขึ้นอยู่ระยะเวลาส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามเงื่อนไข

 

บำเหน็จชราภาพ

จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน หรือ 15 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ   

  • จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 12 เดือน ได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินที่เราจ่ายสมทบเท่านั้น
  • จ่ายสมทบ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้บำเหน็จเท่ากับ

เงินที่เราจ่ายสมทบ + เงินที่นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนที่ประกันสังคมกำหนด

 

บำนาญชราภาพ

จ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี จะจ่ายติดต่อกันหรือไม่ก็ได้ เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน มีสิทธิ์รับบำนาญเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่คิดคือ 15,000 บาท) แต่ถ้ามีการจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ก็จะได้โบนัส

 

บำนาญบวกเพิ่มปีละ 1.5% หรือคิดรวมกันทั้งหมด คือ 20% + [1.5% x (จำนวนปีจ่ายเงินสมทบ – 15 ปี)]  ใช้ในกรณีจ่ายครบปี ไม่มีเศษเดือน

 

ใครมีสิทธิ์ได้รับเงินชราภาพบ้าง

  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา หรือผู้ประกันตนมาตรา 39
  • มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

ช่องทางตรวจสอบ "เงินคืนประกันสังคม"

สามารถตรวจสอบการส่งเงินสมทบประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th

 

วิธีเช็คยอดเงินสมทบประกันสังคม

1. เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th หลังจากนั้นเข้าสู่ระบบผู้ประกันตน / สมัครสมาชิก

2. กรอกเลขบัตรประชาชนและรหัสผ่าน

3. สำหรับคนที่เข้าเว็บนี้ครั้งแรกต้องทำการสมัครสมาชิก กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อรับรหัสการยืนยันตัวตน

4. ล็อคอินเข้าระบบและเลือกผู้ประกันตน

5. เข้าสู่หน้า “ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน” โดยจะแสดงรายละเอียดของผู้ประกันตน

6. คลิก “ข้อมูลการส่งเงินสมทบ” จะแสดงข้อมูลปีล่าสุด และจะปรากฏจำนวนเงินที่เรานำส่งแต่ละเดือน ซึ่งเงินนี้จะถูกแยกเป็น 3 ส่วน

  • เงินช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย (1.5%)
  • เงินช่วยเหลือเมื่อว่างงาน (0.5%)
  • เงินช่วยเหลือเมื่อชราภาพ (3%) รวมสูงสุด 750 บาทต่อเดือน

7. เกษียณอายุการทำงาน คุณจะได้เงิน “เงินชราภาพ” คืน ถ้าอยากรู้ว่าเท่าไหร่ ให้คลิกที่ “การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ”.

 

วิธีคำนวน “เงินชราภาพ” เงินคืนจากประกันสังคม

กรณีบำเหน็จ

ตัวอย่างจ่ายประกันสังคมมา 150 เดือน จะได้รับเงินคืนทั้งหมดเท่าไหร่?

จากสูตร (ส่วนของเรา + ส่วนของนายจ้าง) x จำนวนเดือน เท่ากับ (450 บาท + 450 บาท) x 150 เดือน = 135,000 บาท (ยังไม่รวมกับผลประโยชน์ตอบแทนที่ประกันสังคมกำหนด)

 

กรณีบำนาญ

ตัวอย่าง เงินเดือน 20,000 บาท จ่ายประกันสังคมมา 180 เดือน จะได้รับเงินทั้งหมดเท่าไหร่?

จากสูตร ฐานเงินเดือน 60 เดือนสุดท้าย x 20% เท่ากับ 15,000 บาท x 20% = 3,000 บาท

แต่ถ้าจ่ายประกันสังคมเป็น 240 เดือน จะได้รับโบนัสเพิ่มอีกปีละ 1.5% ดังนี้

[(240 เดือน – 180 เดือน)/12] x 1.5% x 15,000 บาท = 1,125 บาท

รวมรับบำนาญเป็น 3,000 + 1,125 = 4,125 บาทต่อเดือน

 

แต่ถ้าหากจ่ายประกันสังคม มาตรา 33 มาได้ 180 เดือนแล้วลาออกไปต่อมาตรา 39 อีก 60 เดือน เงินบำนาญที่จะได้รับจะเปลี่ยนเหลือเพียง

1. 4,800 บาท x 20% = 960 บาท

2. (60 เดือน / 12) x 1.5% x 4,800 บาท = 360 บาท

รวมรับบำนาญเป็น 960 + 360 = 1,320 บาทต่อเดือน

 

สาเหตุที่ได้เงินคืนประกันสังคมน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากเงินบำนาญคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แล้ว 60 เดือนสุดท้ายมาต่อประกันสังคมมาตรา 39 ฐานจึงปรับลงมาอยู่ที่ 4,800 บาท นั่นเอง

 

หากใครจะเปลี่ยนจากผู้ประกันตน มาตรา 33 มาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ต้องตัดสินใจให้ดีด้วยว่า จะยอมได้รับเงินบำนาญที่น้อยลง เพื่อแลกกับสิทธิ์รักษาพยาบาลต่อไหม ซึ่งถ้าใครมีบัตรทอง หรือมีประกันสุขภาพอยู่แล้วก็อาจจะเลือกจบที่การเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33  เพื่อจะได้รับเงินบำนาญที่มากกว่า

 

 

 

 

ข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวประกันสังคม , ฐานเศรษฐกิจ

 

 

 

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง