รีเซต

ดีเดย์ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” นำร่อง...แผนเปิดประเทศ

ดีเดย์ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” นำร่อง...แผนเปิดประเทศ
TNN ช่อง16
1 กรกฎาคม 2564 ( 10:42 )
115
ดีเดย์ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” นำร่อง...แผนเปิดประเทศ

ลุ้นกันจนวินาที่สุดท้ายว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะดำเนินการได้ตามที่กำหนดไว้ 1 กรกฎาคม 2564 หรือไม่ เพราะเกรงว่าจะขัดกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 26) ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และต่อมาได้ขยายเวลาการบังคับใช้เป็นคราวที่ 12 จนถึง 31 ก.ค.2564 นั้นจะทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาจากต่างประเทศไม่ได้  


แต่ในที่สุดก็ “ปลดล็อค” ได้ทันทวงที เมื่อมีประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564   เผยแพร่ข้อกำหนด อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไป 'จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว' เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่งดีเดย์วันนี้ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นวันแรกที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ บรรยากาศจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้จะคุยกับ คุณ ยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเกาะติดสถานการณ์อยู่ที่ภูเก็ต


ก่อนอื่นมาดูแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด พ.ร.ก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยระบุว่า การกำหนดมาตรการป้องกันโควิดสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยว เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ หลักเกณฑ์ และมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรข้างต้น ให้เป็นไปตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กำหนด ซึ่งมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้


 

มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรือก่อนเข้าภูเก็ต

1. ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ชุมชนไม่น้อยกว่า 14 วัน   


2. ต้องเดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่ซึ่ง ศบค. หรือ ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ อนุมัติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 21 วันก่อนออกเดินทาง โดยให้มีเอกสารใช้ในการเดินทาง ดังนี้

      -หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE)

      -ใบรับรองแพทย์ว่าไม่มีเชื้อโควิด โดยวิธีการตรวจ RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

      -กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลหรือหลักประกันอื่นใดรวมถึงกรณ๊โควิด วงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

      -หลักฐานการชำระค่าที่พักและค่าตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR โดยระบุการเข้าพักไม่น้อยกว่า 14 วันในโรงแรมหรือสถานที่พักที่ได้ขึ้นทะเบียนตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด  กรณีอยู่น้อยกว่า 14 วันให้มีบัตรโดยสารของสายการบินที่ระบุห้วงระยะเวลาการเดินทางออกราชอาณาจักรด้วย

      -เอกสารหรือหลักฐานการได้รับวัคซีน ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด เป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือได้รับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง


3.ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศของประเทศต้นทาง ก่อนออกเดินทาง

สำหรับมาตรการระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร  หรืออยู่ในภูเก็ต กำหนดแนวปฏิบัติคือ


1.มาตรการตรวจคัดกรองอาการและการดำเนินพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ และยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่


2.ใช้ระบบติดตามหรือติดตั้งแอปพลิเคชันตามทีราชการกำหนด โดยให้เปิดระบบติดตามไว้ตลอดเวลา


3.ให้เดินทางออกจากท่าอากาศยานไปยังโรงแรมหรือที่พักโดยยานพาหนะที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ โดยต้องไม่มีการแวะหรือหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ ก่อนถึงโรงแรมหรือสถานที่พัก


4.ให้ตรวจหาเชื้อโควิด โดยวิธี RT-PCR ณ สถานที่ที่ราชการกำหนด โดยผู้เดินทางรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

         -ตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง เมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักร โดยห้ามเดินทางออกนอกที่พักจนกว่าผลตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อ 

         -กรณีพักอยู่ในราชอาณาจักรไม่เกิน 7 วัน ให้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลาการพำนักหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

         -กรณีพักอยู่ในราชอาณาจักร 10-14 วัน ให้ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 และครั้งที่ 3  ระหว่างวันที่ 12-13 ของระยะเวลาการพำนักหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 


5.ผู้เดินทางออกนอกที่พักหลังจากทราบผลการตรวจยืนยันแล้วว่าไม่มีเชื้อโควิด ให้รายงานตัวเมื่อกลับมาที่พักทุกวัน โดยห้ามไปพำนักค้างคืนที่อื่น 


6.กรณีเดินทางมาน้อยกว่า 14 วัน ห้ามออกนอกพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวเด็ดขาด และเมื่อครบกำหนดเวลาให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรทันที


7.กรณีเดินทางมาไม่น้อยกว่า 14 วัน ให้เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ให้ตรวจหาเชื้อโควิดก่อนด้วย


ทั้งนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. มั่นใจว่า ข้อกำหนดดังกล่าวที่ออกมา จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เพราะมีทั้งมาตรการก่อนที่จะเดินทางเข้ามา และมาตรการเข้ามาถึงประเทศไทย จะบินตรงถึงจังหวัดภูเก็ต โดยจะไม่มีการไปปะปนกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ   


ซึ่งวันแรกของการเปิดโมเดลภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1 กรกฎาคมนี้  จะมี 4 เที่ยวบินเดินทางเข้ามา มีนักท่องเที่ยวประมาณ 249 คน  จากหลายประเทศ  รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากอิสราเอล กาตาร์ อาบูดาร์บี  ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาในรอบนี้


ขณะที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่า  ตลอดเดือน กรกฎาคม 2564 มียอดจอง Booking ของผู้โดยสารที่จะเข้ามา Phuket Sandbox ประมาณ 11,894 คน ข้อมูลจาก 6 สายการบิน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าประมาณ 8,281 คนขาออก 3,613 คน  คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดประมาณ 426 เที่ยวบิน เฉลี่ยที่ประมาณ 13 เที่ยวบิน/วัน


ดังนั้นในช่วงในไตรมาส 3  (เดือน ก.ค.-ก.ย. 64)  ททท. คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จะมีประมาณ 100,000 คน   และทำให้เงินสะพัดสร้างรายได้ราว  8,900  ล้านบาท  


อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกที่ 3 ของไทยซึ่งพบผู้ติดเชื้อยังอยู่ระดับสูง โดยข้อมุลล่าสุดเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) มีผู้ป่วยรายใหม่ 4,786 ราย และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 230,000 คน  ทำให้บางประเทศเกิดความกังวลในการเดินทางมาประเทศไทย อย่างเช่น ฮ่องกง   ทำให้ต้องยกเลิกการเดินทางมา "ภูเก็ต" ด้วย 


โดยเมื่อวานนี้ (30 มิ.ย.) มีรายงานข่าวจากสายการบินไทยสมายล์ แจ้งว่า สายการบินไทยสมายล์ จำเป็นต้องแจ้งยกเลิกการกลับมาให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ ภูเก็ต-ฮ่องกง ตามนโยบาย ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเดิมจะเริ่มทำการบินในวันที่ 2 ก.ค. 64 สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน ออกไปก่อน เนื่องจากผู้โดยสารจากฮ่องกงได้ทยอยยกเลิกการเดินทางจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าปรับลดลงจาก 30% เหลือเพียง 5%  จนสายการบินไม่สามารถเปิดทำการบินได้เพราะไม่คุ้มที่จะทำการบิน


สาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารชาวฮ่องกงยกเลิกเที่ยวบิน เนื่องจากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกฮ่องกงจัดให้เป็นเขตพื้นที่สีแดง หรือเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการกลับมาระบาดรุนแรงอีกระลอก ซึ่งมีข้อกำหนดให้ชาวฮ่องกงที่เดินทางกลับจากไทยจะต้องกักตัว 14 วันก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนา ซึ่งสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการกักตัวและเสียเวลากักตัวนานเกินไป ขณะที่การเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาระยะสั้นไม่เกิน 7 วันเท่านั้น นักท่องเที่ยวจึงยกเลิกการเดินทาง เมื่อไม่มีคนเดินทาง ไทยสมายล์ก็ต้องยกเลิกการทำการบินเข้าภูเก็ตไปก่อน โดยอาจจะพิจารณาเปิดบินอีกครั้งในดือนสิงหาคม ซึ่งขอรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดก่อน 

อย่างไรก็ดี แม้จะมีหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนในปริมาณที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในระดับหนึ่งแล้ว เช่น    มัลดีฟส์  และเซเชลส์  กลับพบว่ายังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่อย่างรุนแรงจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอีกครั้ง 


โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics ทำการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อถอดบทเรียนมัลดีฟส์และเซเชลส์  ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ภูมิประเทศคล้ายภูเก็ต หลังจากเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น พบความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์อื่นนอกประเทศ


กรณีหมู่เกาะเซเชลส์ (กราฟเส้นสีน้ำเงิน)  แม้ว่าในปัจจุบันจะมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงถึง 71.5%  แต่เมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา กลับพบการระบาดของเชื้อเฉลี่ยสูงขึ้น 3.8 เท่าตัว ในช่วงเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 


ในขณะที่ประเทศมัลดีฟส์ (กราฟเส้นสีส้ม) ที่มีอัตราการฉีดวัคซีน 58.3% พบการระบาดสูงขึ้นกว่าเดิม 8.2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยจะเห็นว่าหลังจากเปิดประเทศแล้ว ทั้งสองประเทศยอดนักท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นในสองเดือนแรก แต่ในเดือนที่สามเริ่มพบยอดการติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น 


ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชี้ให้เห็นถึงโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสที่แตกต่างจากสายพันธุ์ท้องถิ่น  โดยเป็นสิ่งที่ไทยต้องตระหนัก  เพราะเมื่อมองย้อนกลับมาที่จังหวัดภูเก็ตก็มีลักษณะคล้ายมัลดีฟส์และเซเชลส์  ซึ่งมีความพร้อมเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว  

โดยประชาชนในจังหวัดภูเก็ตได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 380,000 คน คิดเป็น 82% ของประชากร และเข็มที่สองราว 298,344  คน คิดเป็น 64 % ของประชากร 


ดังนั้น การฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่าน “โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในวันนี้ (1 ก.ค.) ด้วยแนวทางที่ได้เตรียมการไว้ของภาครัฐ เอกชน ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ และบทเรียนการเปิดให้ท่องเที่ยวของประเทศอื่น ๆ จะช่วยให้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  เป็นโมเดลตัวอย่างเพื่อปรับใช้พื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ กระบี่ พังงา เชียงใหม่ พัทยา บุรีรัมย์  ช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาอีกครั้ง 


ที่สำคัญความคาดหวังว่าจะกลับมาเปิดประเทศได้ภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคมนี้ ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย  โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ

โดยในมุมมองภาคเอกชนจากผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.)  หรือ  CEO Survey  จำนวน 201 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจา45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ในเดือนมิถุนายน 2564 ภายใต้หัวข้อ “120 วัน เตรียมความพร้อมเปิดประเทศ” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่าการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ควรเปิดเมื่อสถานการณ์มีความพร้อมโดยที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คิดเป็นร้อยละ 56.7  รองลงมา เห็นด้วยกับเป้าหมายในการเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน คิดเป็นร้อยละ 31.3  และมองว่ายังไม่ควรเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะ 3 – 4 เดือนนี้ คิดเป็นร้อยละ 9.5 ส่วนความเห็นที่ต้องการให้เร่งเปิดประเทศให้เร็วกว่าเป้าหมาย คิดเป็นร้อยละ 2.5 


ในส่วนของ “ปัจจัยสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศ”  พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญคือ  การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ จำนวนเพียงพอ และการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คิดเป็นร้อยละ 93.0 // รองลงมา เป็นการกำหนดแผนงานที่ชัดเจน มีระบบการประเมินสถานการณ์ และการสื่อสารที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 74.6 // และการเตรียมการในส่วนของมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยว เช่น วัคซีนพาสปอร์ต, Vaccine certificate, Health insurance, ใบรับรองแพทย์ Fit To Fly เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 72.6 


โดยรูปแบบการเปิดประเทศที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าเหมาะสมนั้น ได้แก่ การทยอยเปิดเป็นบางพื้นที่ตามความพร้อมของจังหวัด  รองลงมา การเปิดเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว (Sealed Routes) เช่น Phuket Sandbox และลำดับสุดท้ายเป็นการเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ 


ดังนั้นต้องติดตามและให้กำลังใจ  “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เพราะหากประสบผลสำเร็จจะเป็นโมเดลต้นแบบให้จังหวัดอื่นที่มีความพร้อมเช่นเดียวกัน 


แต่จะนำไปสู่การปิดประเทศภายใน 120 วันตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ได้หรือไม่  ยังเป็นโจทย์ที่ความท้าทายความสามารถของรัฐบาล  หากทำได้จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้   แต่หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ความเชื่อมั่นก็จะยิ่งจางหายไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง