รีเซต

ไวรัสโคโรนา : “ภูมิคุ้มกันหมู่” คืออะไร เหตุใดนักวิทยาศาสตร์พากันคัดค้าน ไม่ให้ใช้ต้านโควิด-19

ไวรัสโคโรนา : “ภูมิคุ้มกันหมู่” คืออะไร เหตุใดนักวิทยาศาสตร์พากันคัดค้าน ไม่ให้ใช้ต้านโควิด-19
บีบีซี ไทย
16 มีนาคม 2563 ( 14:09 )
133
1
Reuters

ข้อเสนอเพื่อรับมือการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ที่ตกเป็นข่าวฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในขณะนี้ เห็นจะได้แก่เรื่องที่เซอร์ แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้มีการสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศ เพื่อเป็นกลยุทธ์บริหารและควบคุมการแพร่ระบาดที่ยั่งยืนในระยะยาว

เซอร์วัลแลนซ์อธิบายว่า จะต้องปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งอาจคิดเป็นจำนวนมากถึง 60% ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ผู้ที่หายป่วยและรอดชีวิต โดยภูมิคุ้มกันนี้จะกลายเป็นสมบัติส่วนรวม ซึ่งช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อร้ายได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ 229 คน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวิจารณ์ว่ารัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการไม่เพียงพอและล่าช้าต่อการรับมือกับโรคโควิด-19

บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาดังกล่าว ยังคัดค้านข้อเสนอเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นพิเศษด้วย โดยชี้ว่าเป็นมาตรการที่เสี่ยงเกินไป และอาจทำให้มีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน ซึ่งเกินกำลังที่สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) จะรับมือไหว

แม้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าทางระบาดวิทยารวมอยู่ด้วย แต่พวกเขายืนยันว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในขณะนี้ แต่มาตรการกักกันโรคและแยกตัวเว้นระยะห่างจากสังคม (social distancing) ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น จะช่วยชะลออัตราการแพร่ระบาดได้ดีกว่าและจะรักษาชีวิตผู้คนไว้ได้นับหมื่นราย

ภูมิคุ้มกันหมู่คืออะไร

Reuters

เว็บไซต์ประจำโครงการให้ความรู้เรื่องวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่า ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอ จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ไม่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ก็ตาม

เมื่อชุมชนแห่งใดมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น สมาชิกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอจนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ก็จะได้รับประโยชน์จากการปกป้องรวมหมู่นี้โดยอัตโนมัติ เพราะพาหะที่นำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามา จะไม่สามารถส่งต่อเชื้อนั้นให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมากจนเกิดการระบาดขึ้นได้

ผู้ที่ได้รับการปกป้องจากภูมิคุ้มกันหมู่นั้น ได้แก่คนชรา ทารกแรกเกิด ผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ผู้มีอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือม้ามทำงานผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะช่วยป้องกันโรคระบาดได้ทุกชนิด ตัวอย่างเช่นโรคบาดทะยัก (tetanus) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง และไม่สามารถจะติดต่อจากผู้ป่วยบาดทะยักคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นไม่ว่าคนรอบข้างจะฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักกันมากแค่ไหนก็ตาม ความเสี่ยงติดเชื้อในหมู่คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะยังคงสูงมากอยู่

ในกรณีของสหราชอาณาจักรนั้น แม้จะมีอัตราการรับวัคซีนป้องกันโรคในหมู่ประชากรสูงมาก แต่การหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 อาจจะเป็นเรื่องที่ประมาทจนเกินไป เพราะยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันในประชากรแต่ละคน โดยให้กระจายทั่วถึงเป็นสัดส่วนสูงในทุกภูมิภาคของประเทศได้ การระบาดของโรคหัดในแคว้นเวลส์เมื่อปี 2013 เป็นบทเรียนราคาแพงให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของอังกฤษมาแล้ว

BBC
คลินิกหลายแห่งเตือนให้ประชาชนที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจไม่ให้เดินทางไปยังคลินิก

สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ กลยุทธ์ที่หวังผลได้จริงหรือสุ่มเสี่ยง ?

ศาสตราจารย์ วิลเลม ฟาน สกายค์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของสหราชอาณาจักรประมาณการว่า หากรัฐบาลอังกฤษเดินหน้าตามแผนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จะต้องมีพลเมืองของสหราชอาณาจักรอย่างน้อย 60% หรือราว 36 ล้านคน ถูกปล่อยให้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และคนเหล่านี้จะต้องฟื้นตัวหายป่วยให้ได้ในที่สุดด้วย

"โดยทั่วไปแล้ว ระบบสาธารณสุขสมัยใหม่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ผ่านการรับวัคซีนอย่างทั่วถึง แต่ในกรณีที่โรคนั้นยังไม่มีวัคซีนและต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิธีธรรมชาติ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนายว่า แผนการนี้จะต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเท่าใด"

"อย่างต่ำที่สุดอาจต้องมีคนตายหลายหมื่นคน หรือสูงสุดที่หลายแสนคน" ศ. ฟาน สกายค์ กล่าว

ศ. มาร์ติน ฮิบเบิร์ด จากวิทยาลัยการสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งกรุงลอนดอน (LSHTM) มองว่า "แม้เราจะพบหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 นั้น จะทำให้ร่างกายผลิตสารแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ที่อาจจะคงทนอยู่ตลอดชีวิตได้ แต่เรายังไม่มั่นใจในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และต้องการหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจหวังพึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ"

"หากจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นในอังกฤษจริงแล้ว มันควรจะต้องเกิดขึ้นก่อนฤดูหนาวครั้งหน้าและก่อนการระบาดซ้ำจะมาถึง" ศ. ฮิบเบิร์ดกล่าว

AFP

อย่างไรก็ตาม ศ. ปีเตอร์ โอเพนชอว์ ประธานสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งอังกฤษ แสดงความเห็นคัดค้านว่า "ไวรัส SARS-CoV-2 นั้นเป็นชนิดใหม่ล่าสุดที่พบในมนุษย์ และเรายังต้องเรียนรู้อีกมากว่ามันส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของเราอย่างไร เรายังไม่รู้แน่ว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อจะอยู่ได้นานแค่ไหน ภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาบางชนิดอยู่ได้สั้นมากเพียงประมาณสามเดือนเท่านั้น"

รมว. สาธารณสุขแจง "ภูมิคุ้มกันหมู่" ยังไม่ใช่นโยบาย

หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เซอร์วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ และศ. คริส วิตที หัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลด้านการแพทย์ ออกมาระบุว่าจะเผยแพร่แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจวางมาตรการรับมือโควิด-19 แบบดังกล่าว

Getty Images
เซอร์วัลแลนซ์ (ขวา)

เซอร์วัลแลนซ์อธิบายว่า "เราไม่ต้องการใช้ยาแรงอย่างการสั่งปิดเมืองหรือกักกันโรคอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้จำนวนผู้ป่วยและติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดการระบาดในระดับสูงสุด จนระบบบริการสาธารณสุขของประเทศต้องล้มเหลว"

"เราต้องการทำให้กราฟอัตราการแพร่ระบาดแบนลงและมีฐานกว้างมากขึ้น ซึ่งก็คือชะลอจำนวนผู้ป่วยในช่วงการระบาดสูงสุดให้มีน้อยลง และเกิดกรณีการติดเชื้อกระจายกันไปในแต่ละช่วงเวลา"

"คนส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย และจะหายเป็นปกติอยู่แล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยปล่อยให้คนส่วนใหญ่ติดเชื้อจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากดำเนินการควบคู่ไปกับการปกป้องผู้มีความเสี่ยงสูงเช่นคนชราไปด้วย"

ด้านโฆษกประจำกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษออกมาแถลงว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการของทางกระทรวง แต่เป็นเพียงผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อการระบาดสิ้นสุดลง

ส่วนนายแมตต์ แฮนค็อก รมว. สาธารณสุขของอังกฤษกล่าวเน้นย้ำด้วยว่า ข้อเสนอสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ใช่นโยบายที่เป็นทางการ "เราจะรับฟังนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และจะพิจารณาข้อมูลหลักฐานที่มีทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ใช่เป้าหมายหรือนโยบายของเรา มันเป็นแค่แนวคิดทางวิทยาศาสตร์แบบหนึ่งเท่านั้น"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง