"ไทย" เสี่ยงวิกฤต บนจุดเปลี่ยน "การค้าโลก"

"ไม่มีอะไรเหมือนเดิม" อีกต่อไปแล้ว
ในวันนี้ "การค้าโลก" เปลี่ยนไป และไทยเราก็หนีไม่พ้น
เศรษฐกิจโลก และไทย ต่างต้องรับแรงกระแทกอย่างหนัก
ความเชื่อมั่นหดหาย หลายสถาบันออกมาหั่นเป้าจีดีพีปีนี้ของไทย และของโลก
จากสงครามค้าการโลก ระหว่าง "สหรัฐ และ จีน" ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะลงเอยในรูปแบบไหนกันแน่
อย่างไรก็ตามวันนี้ เริ่มมี "สัญญาณ" อันตราย จากการลงทุนที่เริ่มชะงักงัน
ในมุมมองจากธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินเอาไว้ว่า
นโยบายภาษีของทรัมป์ จะเป็นสิ่งที่ช็อกโลกครั้งใหญ่ และยาวนาน
และที่สำคัญ จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย และใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด
มีผลตั้งแต่ตลาดเงิน ส่งออก การผลิต การลงทุน และต้องจับตากันให้ดี เพราะอาจจะไปไกลถึงการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ได้
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
"วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทย”
โดย นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ระบุว่า การที่สหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีในหลายประเทศ
เป็นเรื่องช็อคครั้งใหญ่ของโลกที่จะมีผลต่อเนื่องไปในระยะยาว
ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลกเปลี่ยนใหม่
และกว่าที่โลกสร้างสมดุลใหม่ได้นั้น จะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน
ส่วนไทยเราเอง เริ่มเห็นสัญญาณการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนเริ่มชะลอลงแล้ว
เพื่อรอดูความชัดเจนของการเจรจากับสหรัฐฯ ในช่วง 90 วัน
ทั้งนี้ภาพรวมผลกระทบเศรษฐกิจไทยเรามีความเสี่ยงสูงมากขึ้น
ธปท.ประเมินว่าจะปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตลดลงต่ำกว่า 2.5% แน่นอน
จากคาดการณ์เดิมที่อัตรา 2.8% รวมผลกระทบภาษีทรัมป์ 10%
โดยความชัดเจนของตัวเลขจะออกมา
หลังจากประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 เมษายน 2568
ซึ่งเศรษฐกิจที่ชะลอลงจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศลดลงตามเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามนายสักกะภพยืนยันว่าตัวเลขที่แบงก์ชาติมองไว้
ผลกระทบจะไม่ได้น้อย แต่คงไม่ได้ลงไปแบบรุนแรงเหมือนช่วงโควิด 19
วันนี้แบงก์ชาตินั้นยังคงเชื่อมั่นว่าสงครามการค้า
จะยังไม่กระทบบ้านเรารุนแรงหนักเท่ากับช่วงโควิด 19
แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะแรงกระแทกก็ยังหนักหนาสาหัสเลยทีเดียว
เพราะตัวของ"ภาษีทรัมป์" นั้นมีผลใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
ลุกลามไปยังทุกภาคส่วน ตั้งแต่ค่าเงินบาท ไปถึง การลงทุน การจ้างงาน
"ภาษีทรัมป์" กระทบทุกสิ่งใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
เพราะเครื่องมือดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วน
เริ่มตั้งแต่ ตลาดการเงิน หรือค่าเงินบาท
โดยหลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มประกาศมาตรการภาษี
สกุลเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากความกังวลต่อผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ส่งผลให้สกุลเงินอื่น ๆ รวมถึงไทยพลิกแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสกุลเงินดอลลาร์
ทั้งนี้เงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นยังคงสอดคล้องไปตามภูมิภาค
ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมีหนี้ในต่างประเทศน้อย
และมีสภาพคล่องที่สูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
ตลาดหุ้นปรับลดลงสอดคล้องกับภูมิภาค ส่วนภาวะการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ยังเป็นปกติ
แต่ยังต้องติดตามผลจากภาวะการเงินต่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด
ในส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
ธปท. ยืนยันว่ามีการประเมินความเสี่ยงและปรับปรุงการลงทุนตลอดเวลา
โดยได้กระจายความเสี่ยงอยู่แล้วในสกุลเงินประเทศที่พัฒนาแล้ว
และมีเครดิตเรทติงที่ดี รวมถึงลงทุนในสินทรัพย์อื่นด้วย เช่น ทองคำ
แต่สิ่งที่เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว ณ วันนี้
ก็คือ ภาคการลงทุน กำลังเริ่มชะงักงัน เพราะทุกฝ่ายรอความชัดเจน
และหากอนาคตมีแนวโน้มไม่สดใส อาจถึงขั้นย้ายฐานการผลิต
ส่วนการส่งออกของไทย ครึ่งปีหลังหนีไม่พ้นเจ็บหนัก
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ณ ตอนนี้ พบว่า "การลงทุน" ในไทย
มีผู้ประกอบการบางส่วนที่เริ่มชะลอการลงทุนและการผลิตออกไปบ้างแล้ว
เนื่องจากความไม่แน่นอนที่ยังสูง จึงต้องรอดูความชัดเจนก่อน
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก
เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์
แต่การย้ายฐานการผลิตออกไป จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับอุตสากรรม
ทั้งนี้ ที่หนักที่สุด อีกหนึ่งกลุ่ม ก็คือ "ภาคการส่งออก"
ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป เราจะได้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนแน่นอน
ปัจจุบันนี้ไทยมีสัดส่วนส่งออกไปสหรัฐฯมากถึง 18.3% ของการส่งออกทั้งหมด
หรือคิดแล้วเป็นมูลค่าถึง 2.2% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารแปรรูป
นอกจากนี้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย
ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของโลก ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย
ถามว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ?
เบื่้องต้น ธปท. ได้ยกตัวอย่างผลกระทบจากการส่งออก
หากส่งออกไทยลดลงคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออกไปสหรัฐฯทั้งหมด
จะกระทบต่อ จีดีพี 0.4%
นี่คือความเสี่ยงความท้าทายที่ไทยเราหนีไม่พ้น
ดังนั้นแบงก์ชาติจึงเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ตั้งรับ
พร้อมวางแนวทางติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
แบงก์ชาติย้ำว่าตอนนี้ติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด
และจับตาโอกาสเกิดดิสรัปชั่น (disruption)
ในกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้านำเข้า
ธุรกรรมการส่งออกและนำเข้า การผลิตและการจ้างงาน
เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 พรบ. คุ้มครองแรงงานฯ
ภาวะการเงิน เช่น ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และต้นทุนการกู้ยืมผ่านหุ้นกู้ภาคเอกชน
และดู Sentiment (ความเชื่อมั่น) การลงทุน
เช่น การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน หรือเลื่อนการลงทุนออกไป
รวมทั้งดูแลความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงกว่าปกติในช่วงนี้
เพื่อลดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง
พร้อมเสนอแนะแนวทางในการเตรียมความพร้อม ทั้งระยะสั้น และระยะยาว คือ
แนวทาง "ระยะสั้น"
ไทยควรมีมาตรการรับมือ ทั้งการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศ
และป้องกันการนำเข้าสินค้ามาเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ผ่านไทย (transshipment)
การเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการทุ่มตลาด ข้อพิพาทกับต่างประเทศ
การเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ
ป้องกันการสวมสิทธิจากประเทศที่สาม
แนวทาง "ระยะยาว"
ไทยควรกระจายความเสี่ยงหาตลาดใหม่อื่นเพิมเติ่ม
และสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) กับประเทศในภูมิภาค
และต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้แข่งขันได้ในระดับโลก
โดยยกระดับภาคการผลิตและภาคบริการที่ไทยมีศักยภาพ
เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ
โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ทักษะแรงงาน และการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
นอกจากนี้ อย่าลืมว่า สงครามการค้าโลกยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกหลายด้าน
เช่น ประเทศไทยยังต้องรับศึกหนัก จากสินค้าจากต่างประเทศที่เข้าสหรัฐไม่ได้
พากันทะลักเข้ามาขายในประเทศมากขึ้น
และถ้าหากเศรษฐกิจโลกไม่ดี คนไม่มีเงิน
การท่องเที่ยวที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศก็อาจจะกระทบได้เช่นกัน
ดังนั้นอย่างที่บอกเอาไว้ ไทยเราหนีไม่พ้น เพราะนี่คือ จุดเปลี่ยนการค้าโลก
ที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป