รีเซต

โควิดกลายพันธุ์เดลต้า เจาะเกราะออสเตรเลียได้อย่างไร

โควิดกลายพันธุ์เดลต้า เจาะเกราะออสเตรเลียได้อย่างไร
TNN World
30 มิถุนายน 2564 ( 09:56 )
60
โควิดกลายพันธุ์เดลต้า เจาะเกราะออสเตรเลียได้อย่างไร

ปราการโควิดของออสเตรเลีย

 

ตลอดปีที่ผ่านมา ออสเตรเลียถือว่าควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้ดีมาก เมื่อเทียบกับนานาประเทศทั่วโลก ถึงจุดที่บรรลุ “ภาวะปกติใต้โควิด” หรือ Covid Normal คือประชาชนไปร้านอาหาร สถานบันเทิง สังสรรค์ตามไนท์คลับ และร่วมเทศกาลต่าง ๆ ได้

 


ปราการต้านโควิดของออสเตรเลีย แน่นหนามาก ด้วยการปิดพรมแดนและกักตัวภาคบังคับ เรียกว่า 99.99% การ์ดแน่นมาก
แต่ 0.01% ของเคสติดเชื้อที่หลุดรอดมา เจ้าหน้าที่ก็จะรีบติดตาม ล็อกดาวน์เมือง และกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดอย่างรวดเร็ว
นครซิดนีย์ เมืองใหญ่สุดและร่ำรวยสุดของออสเตรเลีย รอดจากการล็อกดาวน์มาได้ตลอด จากระบบติดตามผู้สัมผัสที่มาตรฐานสูง

 

 


ในที่สุดก็ถูกเจาะเกราะ


แต่แล้ว โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ Delta ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ได้เจาะปราการของนครซิดนีย์ และภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อ Delta พุ่งสูงกว่า 100 คนในเมืองนี้เมืองเดียว

 


จนเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องประกาศใช้มาตรการล็อกดาว์นครซิดนีย์, ผ่านไปไม่กี่วัน วานนี้ (28 มิถุนายน) รัฐบาลต้องล็อกดาวน์ 4 เมืองใหญ่ ใน 4 รัฐทั่วประเทศ คือ ซิดนีย์ ดาร์วิน เพิร์ธ และบริสเบน ทั้งหมดล้วนเป็นเมืองเอกของแต่ละรัฐ
ประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน หรือ 80% ของประชากรต้องอยู่ใต้โดมของการล็อกดาวน์ หรือมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด ถือเป็นจำนวนประชากรมากสุดที่ได้รับผลกระทบ นับแต่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ในช่วงแรก ๆ ของการระบาดเมื่อปีที่แล้ว 

 

 


อุดรูโหว่ด้วยวัคซีน


รัฐบาลจัดการประชุมรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อพยายามอุดรูโหว่ ด้วยการขยายการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ให้มากขึ้น แต่ก็เกิดคำถามในหมู่ชาวออสเตรเลียว่า ทำไมออสเตรเลียถึงต้องเผชิญมาตรการควบคุมที่เข้มงวดอีก ทั้งที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนมา 7 เดือนแล้ว

 


นักระบาดวิทยายอมรับว่า โควิดสายพันธุ์ Delta เป็นสายพันธุ์โควิดที่ระบาดและติดเชื้อได้มากที่สุด

 

 


รูรั่วในปราการโควิดออสเตรเลีย คืออะไร?


อันที่จริง ระบบการปิดพรมแดนและกักตัวของรัฐบาลออสเตรเลีย กลายเป็นประเด็นท้าทายมากขึ้น นับแต่เกิดโควิดกลายพันธุ์ในช่วงปลายปี 2020 

 


ประชาชนผ่านเข้ามาในออสเตรเลีย ทั้งที่ต้องกักตัวเข้มงวดถึง 370,000 คน แต่ก็ยังพบผู้ติดเชื้อถึง 10 ครั้ง นำไปสู่การระบาดย่อยหลายครั้ง


[รูรั่ว - การกักตัวในโรงแรม]

 


การระบาดระลอกนี้ที่มาจาก 2 เคส มาจากประชาชนที่กักตัวในโรงแรมแล้ว คนแรกเป็นคนงานเหมือนจากรัฐนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ที่ติดเชื้อระหว่างกักตัวในรัฐควีนส์แลนด์ และอีกคนเป็นหญิงในรัฐควีนส์แลนด์ ที่ติดเชื้อหลังกักตัวครบวันแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า อาจเป็นปัญหาที่ระบบปรับอากาศ และปัญหาอากาศบริสุทธิ์ไม่เพียงพอภายในโรงแรมที่ใช้กักตัว
[รูรั่ว - ที่พรมแดน]

 


ออสเตรเลียเลื่องชื่อมากเรื่องความเข้มงวดในการอนุญาตคนเข้ามาในประเทศ ด้วยการจำกัดจำนวนพลเรือนที่ต้องการเดินทางกลับเข้ามาในแต่ละสัปดาห์ รวมถึงแบนผู้เดินทางจากบางประเทศไม่ให้เข้ามาเลย

 


เมื่อก้าวออกจากเครื่องบิน ผู้โดยสารจะถูกล้อมด้วยทหาร ตำรวจ และพยาบาล ในชุด PPE และสวมหน้ากากรัดกุม เพื่อพาตัวไปสถานที่กักตัว

 


แต่กลับกลายเป็นว่า ถ้าเป็นคนขับรถที่พาผู้โดยสารที่กลับมาไปยังที่ต่าง ๆ กลับไม่ต้องเผชิญมาตรการเข้มงวดนี้ นำมาสู่ ‘ผู้ป่วยคนแรก’ หรือ ‘Patient Zero’ ซึ่งในนครซิดนีย์ คือ คนขับรถลิมูซีนวัย 60 กว่าปี ที่ติดเชื้อจากผู้โดยสาร ระหว่างเดินทางไปสถานที่กักตัว

 

 


โควิด Delta เป็นศัตรูตัวร้าย


ผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับว่า โควิด Delta เป็นศัตรูที่น่ากลัวมาก จากอัตราการติดเชื้อที่สูง 


“โควิด Delta แพร่เชื้อได้เร็วมาก แม้แต่กับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อได้” ศาสตราจารย์ แนนซี แบกซ์เตอร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าว

 


เจนเนตต์ ยัง หัวหน้าทีมสาธารณสุขรัฐควีนส์แลนด์ กล่าวว่าจำเป็นต้องปิดพรมแดนนครซิดนีย์ ก็เพราะโควิด Delta แพร่กระจายได้เร็วมาก

 


“แค่สัมผัสกันชั่วครู่ ก็ติดเชื้อโควิด Delta ได้แล้ว ก่อนหน้านี้ฉันเคยพูดว่า ต้องสัมผัสกันนาน 15 นาทีถึงจะน่ากังวล”
“แต่ตอนนี้ แค่ 5-10 วินาทีก็ติดเชื้อโควิด Delta ได้แล้ว นั่นหมายความว่าความเสี่ยงมันสูงกว่าเมื่อปีที่แล้วมาก”

 

 


จุดจบ Covid Normal


ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โควิด Delta ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การรับมือโรคระบาดออสเตรเลียไปหมดสิ้น 

 


หากรัฐบาลฉีดวัคซีนไม่ครบประชากรภายในปี 2022 และยังมีชาวออสเตรเลียเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โควิด Delta ก็จะยังคุกคามชาวออสเตรเลียต่อไป 

 


นั่นหมายความว่า มาตรการอย่างการบังคับสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จะดำเนินต่อไป
“ก่อนหน้านี้ มันดีมาก คุณไปทานข้าว ไปดูการแสดงร่วมกับคนหลายพันคนได้” ดอกเตอร์ แบกซ์เตอร์ กล่าว
“แต่ฉันไม่คิดว่าเราจะทำเช่นนั้นได้อีกต่อไป จนกว่าเราทุกคนจะฉีดวัคซีนแล้ว เพราะความเสี่ยงมันมากเหลือเกิน เราอยู่กันแบบที่ไม่คิดว่ามี Covid อยู่ ไม่ได้อีกแล้ว”

 

 

 

สำหรับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta เวลานี้ ทำให้ต้องมีการออกคำสั่ง "ล็อกดาวน์" ทั้งใน "ซิดนีย์" (นิวเซาท์เวลส์), “ดาร์วิน" (นอร์เทิร์น ทอริทอรีย์), บริสเบน และเมืองเพิร์ท

 

 

มาตรการคือ

- อยู่กับบ้าน ยกเว้นเหตุจำเป็น

- ห้ามอยู่เกิน 5 คน (รวมเด็ก)

- ในที่สาธารณะ เว้นระยะห่าง 1 คน ต่อ 4 ตร.ม.

- ปิดธุรกิจไม่จำเป็น

- ห้าม กิน-ร้อง-เต้นรำ

 

 

โดยเฉพาะใน "ซิดนีย์" ที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวล โดยประชาชนราว 5 ล้านคนถูกสั่งให้ "อยู่กับบ้าน"

 

 

ส่วนโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเอง ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นไปด้วยความล่าช้า ปัจจุบัน มีชาวออสเตรเลียในวัยผู้ใหญ่เพียง 5% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว ขณะทีอีกราว 30% ได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว ทั้ง Pfizer และ AstraZeneca

 

 

ปัจจัยสำคัญที่ประชาชนยังไม่ยอมฉีดวัคซีน เป็นเพราะความกังวลต่อวัคซีน AstraZeneca กับอาการลิ่มเลือดอุดตัน ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศก่อนหน้านี้ ขณะที่วัคซีน Pfizer ก็จำกัดช่วงวัยในการฉีด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง