รีเซต

ไทยพร้อมกลางปี 64 ผลิตวัคซีนปราบโควิด19 คาดใช้เดือนละ 2 ล้านโดส เผยกลุ่มเป้าหมายแรก

ไทยพร้อมกลางปี 64 ผลิตวัคซีนปราบโควิด19 คาดใช้เดือนละ 2 ล้านโดส เผยกลุ่มเป้าหมายแรก
ข่าวสด
24 พฤศจิกายน 2563 ( 19:35 )
129

กรมควบคุมโรคเผย กลางปี 64 ไทยพร้อมผลิต "วัคซีนโควิด 19" ที่รับการถ่ายทอดจากแอสตราเซเนกา โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดไทยต้องการใช้เดือนละ 2 ล้านโดส มีกำลังการผลิตเพียงพอ ส่วนที่จองซื้อ 26 ล้านโดส อยู่ในกลุ่มที่จะผลิตในประเทศ ไม่ได้นำเข้า ระบุ ธ.ค.กำหนดกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะรับวัคซีนได้ 

 

วันที่ 24 พ.ย.2563 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผอ.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน ร่วมแถลงผลกรทดสอบวัคซีนโควิด 19 และการจองวัคซีนล่วงหน้าของประเทศไทย

 

 

นพ.นคร กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ไทยเข้าไปร่วมเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น มีการออกมาเผยแพร่ผลการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 ว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคเฉลี่ยอยู่ที่ 70% แต่เมื่อแบ่งตามลักษณะการให้วัคซีน 2 แบบ คือ ฉีดเข็มแรกครึ่งโดส เข็มที่ 2 เต็มโดส พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันโรคได้ 90% ส่วนการฉีดเต็มโดสทั้ง 2 เข็ม ประสิทธิผลอยู่ที่ 70% ขณะนี้กำลังการทดลองในคนระยะ 3 ต่ออีก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ระหว่างนี้บริษัทได้ส่งข้อมูลต่อองค์การอาหารและยาของสหราชอาณาจักรและยุโรป เพื่อทยอยประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียน

 

 

"สำหรับประเทศไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาผลิตในประเทศไทย โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 180-200 ล้านโดสต่อปี สำหรับในประเทศไทยและอาเซียน โดยหลังรับการถ่ายทอดจะผลิตได้ภายใน 6 เดือน หรือราวกลางปี 2564 และขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ของประเทศไทย ส่วนที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจองซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าว 26 ล้านโดส สำหรับคนไทย 13 ล้านคน อยู่ในล็อตที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิต ไม่ใช่การจองซื้อวัคซีนสำเร็จนำเข้ามาโดยตรง เพราะจะมีเรื่องการขนส่งที่ต้องใช้เวลา ในขณะที่วัคซีนจะมีอายุการใช้งานอยู่ ถ้าซื้อมาเยอะใช้ไม่ทันก็จะทำให้กระทบกับคุณภาพวัคซีนได้"

นพ.นคร กล่าวต่อว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้แล้ว กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้จัดซื้อและกระจายให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกรมฯจะจัดทำแผนการใช้วัคซีนว่า แต่ละเดือนประเทศไทยต้องการเท่าไร เพื่อนำมาวางแผนผลิตร่วมกับบริษัทฯ จากนั้นส่วนที่เหลือจึงจะแบ่งสัดส่วนทยอยส่งออกให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากบริษัท แอสตราเซเนกาวางให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด 19 ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนภูมิภาคอื่น เช่น อเมริกาใต้ วางไว้ที่บราซิล เอเชียใต้ ที่อินเดีย รวมถึง อังกฤษ เกาหลีใต้ เป็นต้น

 

 

ด้านนพ.โอภาส เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่าไทยต้องการวัคซีนเดือนละ 2 ล้านโดส เพราะวัคซีนมีอายุสั้นจึงต้องดูการใช้และการผลิตให้สอดคล้องกัน ขณะที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีกำลังผลิตเดือนละ 15 ล้านโดส ซึ่งส่วนที่เหลือตามข้อสัญญาเมื่อผลิตแล้วจะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ประเทศไทยจะต้องอนุญาตก่อน สำหรับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายคนไทยที่จะได้รับวัคซีนในล็อตแรกที่จองซื้อไว้ 26 ล้านโดส คณะอนุกรรมการสร้างเสริมป้องกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะพิจารณาในเร็วๆนี้ คาดว่าภายใน ธ.ค. 2563 จะกำหนดกลุ่มที่ชัดเจน โดยหลักการจะพิจารณากลุ่มเป้าหมายจาก 1.กลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อแล้วจะเสียชีวิต 2.โอกาสแพร่เชื้อสูง และ3.อื่นๆ ซึ่งหากดูจากในช่วงวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 กลุ่มแรกที่ได้รับ คือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่ติดเชื้อแล้วโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

" อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีวัคซีนแล้ว แน่นอนว่าทั่วโลกไม่มีทางได้รับพร้อมกันทุกคน ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าจึงเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเอง และมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศยังจำเป็น "

ข่าวที่เกี่ยวข้อง