รีเซต

เฮยหลงเจียงพบ 'รอยเท้าเสือโคร่งไซบีเรีย' ในรอบกว่า 50 ปี

เฮยหลงเจียงพบ 'รอยเท้าเสือโคร่งไซบีเรีย' ในรอบกว่า 50 ปี
Xinhua
31 มกราคม 2565 ( 20:44 )
97

ปักกิ่ง, 31 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ทีมนักวิจัยของจีนค้นพบรอยเท้าของเสือโคร่งไซบีเรียในเทือกเขาต้าซิงอันหลิ่ง (Greater Khingan Range) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ถือเป็นการปรากฏขึ้นครั้งแรกของร่องรอยเสือโคร่งสายพันธุ์หายากที่เทือกเขาแห่งนี้ในรอบกว่า 50 ปี

 

เมื่อวันอาทิตย์ (30 ม.ค.) สำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีน (NFGA) กล่าวว่าการปรากฎตัวอีกครั้งของเสือเหล่านี้ได้รับการยืนยันหลังมีการค้นพบรอยเท้าและอุจจาระบนหิมะของเสือ ซึ่งนำมาตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ในเวลาต่อมา

 

ทีมนักวิจัยที่นำโดยโจวเซ่าชุน  นักสัตววิทยาจากสถาบันวิจัยสัตว์ป่ามณฑลเฮยหลงเจียง พบรอยเท้าดังกล่าวบนหิมะ ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติเป่ยจี๋ชุน  เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2021 ซึ่งคาดว่าเป็นรอยเท้าของเสือโคร่งไซบีเรีย โดยได้เก็บตัวอย่างอุจจาระ 4 ชุดระหว่างการแกะรอยเท้า ก่อนจะได้รับการพิสูจน์ในภายหลังว่าเป็นของเสือโคร่งไซบีเรีย

 

จางหมิงไห่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ จากมหาวิทยาลัยป่าไม้ตะวันออกเฉียงเหนือ (NEFU) กล่าวว่า "การค้นพบร่องรอยเสือโคร่งไซบีเรียที่เทือกเขาแห่งนี้ครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อมากกว่า 50 ปีก่อน โดยนอกเหนือจากเทือกเขาเสี่ยวซิงอันหลิ่ง (Lesser Khingan) แล้ว เทือกเขาต้าซิงอันหลิ่งยังเป็นหนึ่งในเขตป่าสงวนบริสุทธิ์ที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

 

จางกล่าวว่า แม้ว่าการค้นพบครั้งล่าสุดจะไม่ได้หมายถึงการตั้งถิ่นฐานระยะยาวของเสือโคร่งไซบีเรีย แต่ก็สะท้อนถึงการปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและการฟื้นฟูห่วงโซ่อาหารในภูมิภาคแห่งนี้ อันเป็นแนวโน้มที่ดีในการขยายแหล่งการขยายพันธุ์ของเสือโคร่งไซบีเรียในจีน

 

เสือโคร่งไซบีเรีย หรือที่รู้จักกันในชื่อเสือโคร่งอามูร์และเสือโคร่งแมนจูเรีย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของรัสเซีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และทางตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี โดยมีชื่ออยู่ในรายการสัตว์คุ้มครองระดับ 1 ของจีน

ทั้งนี้ เสือโคร่งไซบีเรียกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยเทือกเขาต้าซิงอันหลิ่งเป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเสือโคร่งสายพันธ์นี้ อย่างไรก็ดี การสำรวจระหว่างปี 1974-1976 พบว่าเสือโคร่งได้หายไปจากพื้นที่ภูเขาแห่งนี้เนื่องจากสาเหตุหลายประการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง