เตือนแล้วนะ! จีนขู่ชาวโลก ระวังถูกตอบโต้ จับมือสหรัฐทำลายจีน

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้อีก ?
เมื่อจีนออกมาขู่ว่า ประเทศใดก็ตามหากไปร่วมมือกับสหรัฐ แล้วสร้างผลกระทบมายังจีน ประเทศเหล่านั้นก็จะถูกตอบโต้กลับไปเช่นกัน
นับเป็นการเคลื่อนไหวที่ส่งสัญญาณว่า สงครามการค้ามีความเสี่ยงที่จะตึงเครียดและร้อนแรงมากขึ้น
ประหนึ่งว่าแต่ละชาติต้องมีการ "เลือกข้าง" ให้ดี
ที่ผ่านมาสองมหาอำนาจของโลกได้ใช้ภาษีตอบโต้กันไปมา และเราก็ยังไม่เห็นการเจรจาของสองมหาอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม
แม้ล่าสุดจะมีสัญญาณที่คลี่คลายลงจากการเปิดทางของฝั่งสหรัฐ ว่าจะมีการเจรจาเกิดขึ้นและมั่นใจว่าจะเป็นไปด้วยดี
โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่าจะลดภาษีให้จีน จะไม่ขึ้นไปถึงอัตรา 145 %
แต่ทางการจีนก็ออกปัดมาข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีการเจรจาใดๆเกิดขึ้นทั้งสิ้น และจี้ให้สหรัฐยกเลิกมาตรการฝ่ายเดียวเสียก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน
"จีนพร้อมตอบโต้ทุกชาติที่จับมือทรัมป์ทำลายจีน"
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าทางการของจีน โดยกระทรวงพาณิชย์จีนได้แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 เมษายน 2568 )
ระบุว่า รัฐบาลปักกิ่งได้ออกมาเตือนประเทศต่างๆ ว่าทางการจีนจะคัดค้านอย่างเต็มที่
หากมีฝ่ายใดหรือประเทศใดก็ตามทำข้อตกลงที่ทำให้จีนเสียประโยชน์
และหากสิ่งนี้เกิดขึ้น จีนก็จะไม่ยอมรับและจะใช้มาตรการตอบโต้กลับที่เด็ดขาดและเท่าเทียม
พร้อมย้ำอีกด้วยว่า รัฐบาลจีนมีความมุ่งมั่นและมีศักยภาพเพียงพอที่จะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีน
และในขณะเดียวกันก็ยินดีที่จะกระชับความร่วมมือกับทุกๆ ฝ่ายด้วย เพื่อปกป้องความเป็นธรรมในระบบการค้าโลก
นอกจากนี้ทางโฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนยังได้ตอบโต้ไปถึงสหรัฐ
โดยประณามสหรัฐฯ ว่าใช้นโยบาย “กลั่นแกล้งฝ่ายเดียว”
และ “บิดเบือนภาษีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”
ระบุว่า สหรัฐใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือกดดันคู่ค้าทุกประเทศ
โดยอ้างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันก็บีบให้ทุกประเทศต้องยอมเจรจาด้วย
พร้อมเตือนอีกว่า หากระบบการค้าระหว่างประเทศต้องกลับไปสู่ “กฎแห่งป่า”
ที่ไม่มีระเบียบหรือกติกากลาง โลกจะต้องเผชิญความเสี่ยงร้ายแรง
ทั้งนี้คำแถลงของกระทรวงพาณิชย์จีนนับเป็นการออกมาตอบโต้ครั้งแรก
จากกระแสข่าวที่เผยออกมาจากสื่อต่างประเทศ
ที่รายงานอ้างว่ารัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเตรียมกดดันให้ชาติต่างๆ ลดมูลค่าการค้ากับจีนลง
เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ จะลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากรให้
และอาจนำมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินมาใช้ร่วมด้วย
ย้อนกลับไป ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้
ไปยังประเทศคู่ค้าหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยให้ระงับการบังคับใช้เป็นเวลา 90 วัน
และบรรดาชาติต่างๆก็พากันตบเท้าเข้ามาเจรจาต่อรองเพื่อลดภาษี
ยกเว้นเพียงแค่จีนประเทศเดียวเท่านั้น ที่สหรัฐไม่มีการชะลอมาตรการให้
และยังเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนพุ่งไปถึง 145 %
รวมถึงบางรายงานระบุว่าสินค้านำเข้าจากจีนบางรายการอาจมีภาษีพุ่งไปถึง 245 %
ขณะที่ทางการจีนก็ตอบโต้กลับด้วยการสั่งรีดภาษีสินค้าอเมริกัน 125%
พร้อมกันนี้ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐฯ
จีนยังได้เพิ่มความพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป
เช่น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ได้เดินทางเยือน 3 ชาติ อาเซียน ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา
นับเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในปีนี้
เพื่อตอกย้ำแนวคิด “ครอบครัวเอเชีย” รับมือกับแรงกดดันจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำทั้งสามประเทศ
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการต่อต้านพฤติกรรม
“กลั่นแกล้งฝ่ายเดียว” ของสหรัฐฯ และการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมือง
พร้อมชี้ว่าภูมิภาคเอเชียควรมีบทบาทนำในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของโลก
และย้ำข้อความว่า ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า
"การตอบโต้จากจีนที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว"
นอกจากการตอบโต้กันด้วยคำขู่
ล่าสุดจีนก็เดินหน้ามาตการการค้าหลายอย่างเพื่อตอบโต้สหรัฐอย่างเป็นรูปธรรม
เช่น การงดรับเครื่องบินโบอิ้ง
และการระงับการซื้อข้าวโพด และถั่วเหลือง จากสหรัฐอเมริกา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าทางการจีนได้สั่งการให้สายการบินต่าง ๆ ในประเทศ
งดรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง (Boeing) ล็อตใหม่
พร้อมร้องขอให้สายการบินจีนระงับการจัดซื้ออุปกรณ์และชิ้นส่วนอากาศยาน
จากบริษัทสัญชาติอเมริกันเจ้าต่าง ๆ ด้วย
เพื่อตอบโต้การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ประกาศตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจากจีน
จากนั้นไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่า โบอิ้ง (Boeing) ต้องคอตกหอบเครื่องบินกลับอเมริกา
เพราะทางการจีนไม่ยอมรับมอบ โดยเครื่องบินโดยสาร 737 MAX
สื่อต่างประเทศรายงานว่า เดิมทีเครื่องบินโดยสาร 737 MAX ลำดังกล่าว
ต้องส่งมอบให้กับสายการบินเซี่ยเหมิน แอร์ไลน์ (Xiamen Airlines) ของจีน
รายงานระบุว่า ณ ศูนย์ส่งมอบในเมืองโจวซาน ยังมีเครื่องบิน 737 MAX อีกหลายลำ
ที่รอส่งมอบให้กับสายการบินจีน และโบอิ้งอาจต้องทยอยนำกลับสหรัฐฯ ต่อไป
ไม่ใช่เพียงแค่อุตสาหกรรมการบิน
สินค้าเกษตรก็เช่นกัน
ล่าสุด “จีน” ได้ระงับสั่งซื้อถั่วเหลือง-ข้าวโพดจากสหรัฐ
หันไปซื้อจากบราซิลแทน
สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า
จีนได้ระงับการสั่งซื้อถั่วเหลืองและข้าวโพดจากสหรัฐตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา
โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนมีเป้าหมายเพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ
และหันไปซื้อจากประเทศอื่น เช่น บราซิล เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอุปทาน
ทั้งนี้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นมา
ไม่มีคำสั่งซื้อถั่วเหลืองและข้าวโพดใหม่จากบริษัทจีนเลย
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งซื้อมาจากธุรกิจจีนต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงเดือนธันวาคม
ขณะเดียวกันจีนยังพยายามลดการนำเข้าสินค้าเกษตรอื่น ๆ จากสหรัฐด้วย
โดยข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า
การนำเข้าฝ้ายดิบจากสหรัฐในเดือนมีนาคม ลดลงถึง 90% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ส่วนการนำเข้าข้าวสาลีจากสหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2568
เหลือเพียง 1% ของปริมาณที่นำเข้าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้จีนยังลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐลง 30%
ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ตามการดำเนินการของจีนสร้างความกังวลให้กับเกษตรกรสหรัฐอย่างมาก
พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์เร่งเจรจากับจีนเพื่อบรรลุข้อตกลงโดยเร็ว
แม้ภาพรวมวันนี้ ดูเหมือนว่า สงครามการค้า สหรัฐ และ จีน
กำลังทวีความตึงเครียดและรุนแรงหนักขึ้น
แต่หลายฝ่ายเองก็มีการวิเคราะห์ว่า หากทั้งสองมหาอำนาจได้นั่งลง
คุยกันจริงๆ แล้ว ผลอาจจะออกมาดีกว่าที่คาดคิดได้เช่นกัน
เพราะภายใต้แรงกดดันนี้ไม่มีใคร ไม่มีประเทศไหนอยากเลือกข้างอย่างแน่นอน