รีเซต

โควิด-19 : เดลตากลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐฯ, 2/3 ประชากรอินเดียเคยรับเชื้อ

โควิด-19 : เดลตากลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐฯ, 2/3 ประชากรอินเดียเคยรับเชื้อ
ข่าวสด
21 กรกฎาคม 2564 ( 21:47 )
23
โควิด-19 : เดลตากลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐฯ, 2/3 ประชากรอินเดียเคยรับเชื้อ

 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ ซีดีซี) ระบุว่า เชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา กำลังเป็นเชื้อหลักที่แพร่ระบาดในประเทศ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น 224% จากเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ขณะที่อินเดียซึ่งตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้เป็นครั้งแรกพบว่า 2 ใน 3 ของประชากรได้รับเชื้อโรคโควิดเข้าสู่ร่างกาย

 

 

พญ.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการซีดีซี กล่าวเรื่องนี้ในการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่า ขณะนี้เชื้อสายพันธุ์เดลตากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศ โดย 83% ของผู้ติดโควิดรายใหม่ในสหรัฐฯ เป็นผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ หรือเพิ่มขึ้น 50% จากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

 

 

 

 

ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐฯเมื่อ 19 ก.ค. อยู่ที่ 52,111 คน มียอดติดเชื้อรายวันในรอบ 1 สัปดาห์เฉลี่ยที่ 34,682 คน เพิ่มขึ้น 224% เมื่อเทียบกับยอดเฉลี่ยของเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อรายวัน 10,678 คน ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ระบุว่า แทบทุกรัฐมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยกเว้น รัฐมอนแทนา รัฐไอโอวา และเขตโคลัมเบีย ที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

 

อย่างไรก็ตาม ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดเชื้อ เฉลี่ยวันละ 277 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้ว่านี่เป็นเพราะประชาชนได้รับความคุ้มกันจากวัคซีน แม้ว่าบางรัฐ เช่น อาร์คันซอ, ลุยเซียนา, มิสซิสซิปปี และมิสซูรี มีอัตราผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนน้อยกว่ารัฐอื่น ๆ ก็ตาม

 

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐมิสซูรี ทางภาคใต้ของประเทศได้กลายเป็นจุดที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดของประเทศ โดยมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น 60 % จาก 1,107 คนมาเป็น 1,782 คน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐลุยเซียนาทางภาคใต้ก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 115% จากวันละ 650 ราย เป็น 1,398 รายในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของรัฐต้องเปิดชั้นใหม่สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ

 

 

ข้อมูลจากซีดีซีระบุว่า ปัจจุบันมีประชาชนในสหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 161.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 48.6% ของประชากรทั้งประเทศราว 333 ล้านคน อย่างไรก็ตาม พญ.วาเลนสกี เตือนว่า พื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำจะเปิดโอกาสให้เกิดการอุบัติของเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ และทำให้เชื้อสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

 

 

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า สถานการณ์โควิดในสหรัฐฯ อาจออกมาในรูปแบบเดียวกับสหราชอาณาจักร โดยเชื่อว่าภายในเดือน ส.ค. ผู้ติดเชื้อทั้งหมดในนครนิวยอร์กจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา

 

 

ปัจจุบันโควิดสายพันธุ์เดลตา หรือ B.1.617.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย ได้แพร่ระบาดในในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น 60% เมื่อเทียบกับเชื้อสายพันธุ์อัลฟาที่ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร

 

 

เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นพ.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงานควบคุมโรคโควิด-19 ระบุว่า เดลตาเป็น "ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุด" ต่อความพยายามขจัดโควิด-19 ให้หมดสิ้นไปจากสหรัฐฯ

 

 

ขณะเดียวกัน สภาวิจัยทางการแพทย์ของอินเดีย ได้เปิดเผยผลการสำรวจประชาชน 36,227 คนทั่วประเทศเมื่อเดือน มิ.ย. และ ก.ค. พบว่า 67% ของประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทานโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าได้เคยรับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว

 

 

ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ยังคงมีประชากรอินเดียอีกราว 400 ล้านคนที่ยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ โดยปัจจุบันอินเดียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 31 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 แล้วประมาณ 414,000 คน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง