รีเซต

ฮอโลพอร์เทชัน (Holoportation) ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยภาพฮอโลแกรม

ฮอโลพอร์เทชัน (Holoportation) ส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศด้วยภาพฮอโลแกรม
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2565 ( 17:19 )
95

เทคโนโลยีฮอโลแกรม (Hologram) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้ชมได้เพลิดเพลินไปกับการรับชมภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ และนำมาประยุกต์ใช้ในงานหลากหลายรูปแบบ เช่น การแสดงละครสัตว์ฮอโลแกรม เป็นต้น ล่าสุดเทคโนโลยีนี้ได้ถูกนำมาใช้กับงานด้านอวกาศด้วย

ที่มาของภาพ Paramount Global

 


ฮอโลพอร์เทชัน (Holoportation) เกิดจากการรวมคำระหว่าง "ฮอโลแกรม" และ "เทเลพอร์เทชัน" เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการแสดงผลภาพฮอโลแกรมจากต้นทางสู่ปลายทาง โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายร่างไปหากัน คล้ายกับการแสดงผลฮอโลแกรมในภาพยนตร์ไซไฟชื่อดังอย่าง Star Trek เลยทีเดียว


ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การนาซาได้ส่งภาพของ ดร. โยเซฟ ชมิด และทีมงานคนอื่น ๆ จากภาคพื้นดิน ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เพื่อสื่อสารกับนักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส โทมา เพสเก (Thomas Pesquet) ผ่านระบบฮอโลพอร์เทชัน นับเป็นครั้งแรกที่นาซาสามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้โดยไม่ต้องใช้จรวด!



ที่มาของภาพ NASA

 


ระบบฮอโลพอร์เทชันของนาซา ต้องอาศัยอุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ แว่นตาไมโครซอฟท์ ฮอโลเลนส์ (Microsoft HoloLens), กล้องคิเนกต์ (Kinect camera) และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มาพร้อมซอฟต์แวร์เฉพาะด้าน โดยจะต้องมีอุปกรณ์เหล่านี้ทั้งต้นทางและปลายทาง


จากนั้นกล้องคิเนกต์จะทำหน้าที่เสมือนกล้องเว็บแคมคอยจับภาพเพื่อส่งไปยังปลายทาง ดูแล้วคุณอาจจะคิดว่ามันไม่ต่างไปจากการวิดีโอคอลล์หากันสักเท่าไรใช่ไหม? จุดแตกต่างนั้นอยู่ที่แว่นตาฮอโลเลนส์ในการนำภาพจากกล้องคิเนกต์มาประมวลผล แล้วแสดงออกมาให้ผู้สวมใส่เห็นเป็นภาพฮอโลแกรมสามมิติ รวมถึงผู้สวมใส่ยังสามารถพูดคุยกับบุคคลในภาพฮอโลแกรมเบื้องหน้า หรือจะจับมือสวัสดีก็สามารถทำได้เช่นกัน



ทั้งนี้ ฮอโลพอร์เทชันไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่อย่างใด เพราะเดิมไมโครซอฟท์ได้พัฒนาแว่นตาฮอโลเลนส์มาตั้งแต่ปี 2016 และเริ่มนำมาใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการส่งภาพของมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ เพื่อสื่อสารกับนักบินบนสถานีอวกาศที่อยู่ห่างจากพื้นโลกกว่า 400 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งสัญญาณได้มากถึง 20 นาที ดังนั้น องค์การนาซาจึงยังคงพัฒนาประสิทธิภาพของฮอโลพอร์เทชันให้ดียิ่งขึ้น



ที่มาของภาพ NASA

 

 

การพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะช่วยให้นักบินอวกาศที่ทำงานอยู่นอกโลกสามารถสื่อสารกับทีมงานบนพื้นโลกได้ดีกว่าเดิม หรือแม้กระทั่งพาครอบครัวของพวกเขามาเยี่ยมเยียนบนสถานีอวกาศให้หายคิดถึงกันได้ด้วย และหวังว่าสักวันหนึ่งมันจะมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ เช่น การเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์จากระยะไกล (Telemedicine) หรือการช่วยผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Hot Hardware

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง