เกาหลีใต้ คือ “นรกบนดิน” ? เปิดเหตุผล “คนนอกอยากเข้า” คนรุ่นใหม่อยาก “ย้ายประเทศ”
เกาหลีใต้ คือประเทศแดนสวรรค์ของใครหลายคน นอกจากแรงดึงดูดของบรรดานักแสดง ไอดอล หรือนักร้องแล้ว ในเรื่องทางการเมืองและเศรษฐกิจ ก็นับว่าเจริญเติบโตลำดับต้น ๆ ของโลก มีการปราบปรามทุจริตที่เข้มงวด สวัสดิการครบครัน เทคโนโลยีก้าวหน้า และที่สำคัญ ระบบการศึกษาที่ไม่แพ้ตะวันตกเลยทีเดียว
แต่ตอนนี้ เกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะกำลังเผชิญปัญหาที่ผู้คน Gen Z ในประเทศเรียกว่า “Hell Joseon” ต้องการหนีออกนอกประเทศที่ความกดดันสูง คุณภาพชีวิตย่ำแย่ และไม่มีที่ทางให้พวกเขาเติบโตได้อย่างมั่นคง
มันเป็นปัญหาที่ไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ และพลิกโฉมหน้าประเทศที่ผู้คนวาดฝันไว้จากหน้ามือเป็นหลังมือ เรียกได้ว่า สภาวะ “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า”
นรกบนดิน
"Hell Joseon (헬조선)" เป็นศัพท์ที่ Gen Z (อาจรวมถึง Gen Y ตอนปลาย) ใช้เสียดสีสังคมเกาหลีใต้ ช่วงประมาณกลางคริสต์ทศวรรษที่ 2010s จากปัญหาว่างงานของประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย ส่งผลกระทบต่อบัณฑิตจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน ที่อยู่ใน Gen Y ตอนปลายและ Gen Z อย่างมาก เพราะบริษัทมีแต่จะปลดแรงงานออก ไม่มีรับเพิ่ม
จากสถิติของ Statista พบว่า อัตราการว่างงานในเกาหลีใต้พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างน่ากังวลตั้งแต่ปี 2015 ที่สูงขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2014
จากนั้น ก็พุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ มา และส่วนใหญ่ อัตราว่างงานจะกระจุกอยู่ที่ประชากรช่วงวัย 20-29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน คิดเป็น 11.7% ของแรงงานทั้งหมดในเกาหลีใต้
ช่วงเวลานั้น เป็นรัฐบาลของ “พัค กึน ฮเย” ประธานาธิบดีหญิงแกร่งคนแรกของประเทศ หากเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อนหน้า นับว่าเธอทำสถิติการว่างงานในกลุ่ม First Jobbers มากที่สุดเลยทีเดียว และสวนทางกับการเติบโตของจีดีพีเสียด้วย
ตรงนี้ ทำให้ประชากรกลุ่ม “วัยรุ่นสร้างตัว” ไม่พอใจการบริหารงานของเธออย่างมาก เพราะได้พรากช่วงวัยที่สะสมทุนของพวกเขาไป พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีเงิน และทำให้ไม่มีอนาคต มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในการที่จะประสบความสำเร็จให้ได้แบบสมัย “นักรบอุตสาหกรรม” รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่พาประเทศเป็น “เสือแห่งเอเชีย” ได้
เมื่อเป็นแบบนี้ ความกดดันจึงมาจากรุ่นก่อนหน้าที่ประสบความสำเร็จ โดยกล่าวโทษคนรุ่นใหม่ว่าไร้ประสิทธิภาพ ทำงานง่อย ไม่มีความทุ่มเทมากเพียงพอ
Hell Joseon จึงเกิดขึ้น พร้อมกันกับ “ตอลโจ (ㄸ조)” ที่หมายถึง “หนีไป!” เพราะเกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของพวกตนอีกต่อไป จากผลสำรวจชอง ฮันคโยเร สื่อชั้นนำของเกาหลีใต้ จากกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นสร้างตัว 5,000 คน พบว่า กว่า 75% ต้องการหนีออกจากประเทศ ไปสร้างตัวที่อื่น ๆ ที่เปิดกว้างมากกว่านี้ โดยผู้ชายคิดเป็นสัดส่วน 72.1% ส่วนผู้หญิง 79.1% โดย 8 ใน 10 ส่วนของกลุ่มตัวอย่างในช่วงวัย 18-34 ปี ชี้ชัดว่า เกาหลีใต้เป็น “นรกบนดิน”
การว่างงานสมัยพัค กึน ฮเย เป็นเงื่อนไขระยะสั้น (Short-term Conditions) แต่หากตรวจสอบข้อมูลดูดี ๆ จะพบว่า เงื่อนไขระยะยาว (Long-term Conditions) ส่งผลแบบ ฝังรากลึกต่อสังคมเกาหลีใต้ เป็นปัจจัยให้เกิด Hell Joseon อย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน
นั่นคือ “Compressed Modernity” หรือ สังคมแบบ “เร่งเจริญ” ซึ่งเกาหลีใต้กระทำมาตั้งแต่สมัยคริสต์ทศวรรษ 1960s - 1990s ในงานศึกษา Compressed Modernity in Perspective: South Korean Instances and Beyond ได้ชี้ชัดว่า การที่เกาหลีใต้มีปม (Stigma) ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้หลายสิ่งหลายอย่าง ต้องกระทำให้สอดรับกับเรื่องนี้ โดยที่ไม่ได้พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เป็นการเร่งเกินไปหรือไม่ อาทิ การที่จะมีแรงงานทักษะสูง ก็ต้องไปเร่งการพัฒนาหลักสูตร การสร้างความคิดเรื่องนักรบอุตสาหกรรม และการทำงานหนัก ตรงนี้ เป็นการสร้าง “ความกดดันสะสม” ให้กับผู้คนในสังคมอย่างมาก
ในสังคมเกาหลี จึงมีศัพท์ที่เรียกว่า “ธงโดซอกิ (동도서기)” ที่หมายความว่า “เกาหลีเป็นกาย จิตใจเป็นฝรั่ง” หรือก็คือ เกาหลีใต้อยากจะเป็นแบบตะวันตกอย่างแรงกล้ามากเกินไป จนต้องทำทุกอย่างให้ได้แบบนั้น อะไรที่แม้จะไม่เหมาะสมกับสังคมแบบตะวันออก ก็ให้ละทิ้ง หรืออะไรที่ทำแล้วแปลก ๆ ขัด ๆ ก็ขอให้ทำไปก่อน อย่าถามเยอะ ไม่อย่างนั้นจะไม่บรรลุเป้าหมายที่คาดหวัง
หนึ่งในนั้นคือ “ความเหลื่อมล้ำทางธุรกิจ” จะเห็นได้ว่า รัฐมุ่งให้เงินทุนแต่กับ “แชบอล” หรือกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งแชบอลก็จะสร้างการจ้างงานในประเทศอีกทีหนึ่ง หมายความว่า แชบอลชี้เป็นชี้ตายชีวิตของแรงงานได้ เพราะหากแชบอลไม่จ้าง ก็ไม่แน่ใจว่าจะไปทำงานที่ใด
หรือกระทั่ง “การศึกษา” ที่เกาหลีใต้จะมี “การสอบซูนึง” ที่จะสอบครั้งเดียวต่อปีของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อวัดคะแนนทั่วประเทศว่า ใครจะหมู่มใครจะจ่า แน่นอน หากอยากมีชีวิตที่ดี ก็จะต้องสอบให้ได้มหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่าง มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยโคเรีย และมหาวิทยาลัยยอนเซ ไม่อย่างนั้นประตูชีวิตก็จะปิดลง
ตรงนี้ มีแต่เรื่องที่ทำให้เกิดความเครียดสะสมอย่างมาก ยิ่งเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เกาหลีใต้ขอไปมีเอี่ยวด้วย แต่ตลาดงานกับไม่ได้โตสอดรับกับเป้าหมายอันแรงกล้า ผลเสียเลยตกมาที่ประชาชนรุ่นใหม่ ๆ ที่เกิดมาประเทศก็พัฒนาไปจนเกือบจะไม่มีช่องให้พัฒนาได้อีกต่อไป
นับเป็นเรื่องที่จะว่าช่วยไม่ได้ก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นความผิดของการบริหารประเทศก็ไม่เชิง ความลักลั่นนี้ ทำให้ Hell Joseon ยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ
กิมจิอร่อยจริงหรือไม่?
เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า เกาหลีใต้ไม่ใช่สวรรค์วิมานอะไร ก็เป็นประเทศที่มีปัญหาไม่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นกันในเรื่องกระแส “ย้ายประเทศ”
แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น Hell Joseon ยังได้ทำให้เกิดปัญหา “แบ่งขั้วทางสังคม (Social Polarisation)” ตามมาอีกด้วย
ในงานศึกษา Hell Joseon: Polarization and Social Contention in a Neo-liberal Age ชี้ให้เห็นว่า สังคมเกาหลีใต้ตอนนี้ แบ่งแยกชัดเจนระหว่าง “คนมีจะกิน (Haves)” กับ “คนไม่มีจะกิน (Have-nots)” โดยกลุ่มแรก คือผู้ที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง ใช้ชีวิตสบาย อาจเป็นลูกหลานแชโบลหรือนักการเมืองใหญ่ ส่วนกลุ่มหลักคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีหน้าที่ทำงานหนัก แบกจีดีพี และการจ่ายภาษี
และพวก Haves เนื่องจากมีเงิน อัตราว่างงานจะมากเท่าไร เศรษฐกิจจะโตช้าอย่างไร ก็ไม่สะทกสะท้าน หากมีปัญหา ก็ย้ายฐานการผลิต ไม่ก็ปลดแรงงานออก ส่วนพวก Have-not ต้องรับผลจากสิ่งที่พวก Haves กระทำ ไหนจะต้องตามน้ำกับนโยบายภาครัฐ ที่ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีจะปรับขึ้นภาษี ปรับลดค่าเงิน หรือกีดกันทางการค้าใด ๆ ต่อนานประเทศหรือไม่
หนึ่งในนั้น คือการต้องปวดหัวกับนโยบาย “Liberalising and Monetisation” ของ “อี มย็อง บัค” ที่เปิดเสรีทางการเงินและลดสวัสดิการของประเทศลง เพื่อให้เกิดตลาดเสรี รัฐไม่เข้าไปยุ่ง จนกลายเป็นปัญหาปรับลดการจ้างงานจนถึงปัจจุบัน
ตรงนี้เป็น Tension ที่ยากจะแก้ไขได้ ดังที่เห็นได้จาก รัฐบาลเรียกร้องให้ผู้บริหารซัมซุง ออกจากคุกกลับเข้าบริษัท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเลยทีเดียว
ทีนี้ กลับมาพิจารณาประเทศไทย ที่สถิติชี้ชัดว่า ไม่ได้แตกต่างจากเกาหลีใต้เสียเท่าไรนัก เพราะจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า อัตราว่างงานในเดือนมกราคม ปี 2024 ของไทย เพิ่มขึ้นจาก 0.8% เป็น 1.1% จากธันวาคมปีก่อน (2023) โดยกลุ่ม Gen Z มีอัตราการว่างงานมากที่สุดที่ 5.6%
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 3 ปี อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องมาโดยตลอด
ตรงนี้ ก็อาจจะเป็นสัญญาณได้ว่า ไม่ช้าก็เร็ว ประเทศไทยอาจจะมีศัพท์ที่เรียกว่า “Hell Siam” ก็เป็นได้
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
วิทยานิพนธ์ ‘Hell Joseon’ - Tales from a South Korean Youth Trapped Between Past and Present
บทความ Hell Joseon: Polarization and Social Contention in a Neo-liberal Age
บทความ Compressed Modernity in Perspective: South Korean Instances and Beyond
งานวิจัย Neoliberal Migration Regime, Escape from ‘Hell Joseon’ and the Pursuit of Cosmopolitan Aspiration: An Overview of Temporary Migration from South Korea to Australia
https://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/922522.html
https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2024/20240227101745_32024.pdf