รีเซต

'เอกชน' เดินหน้าเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า EV

'เอกชน' เดินหน้าเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า EV
TNN Wealth
27 เมษายน 2564 ( 10:37 )
460

 

ข่าววันนี้ ประเทศไทย เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่พร้อมส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีวี โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด อีวี) เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 ได้กำหนดเป้าหมายเร่งรัดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578 หรือในอีก 14 ปีข้างหน้า จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสะสม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน, รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน, รถบัสและรถบรรทุก 4.58 แสนคัน

 



ทั้งนี้ จากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีวี ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทำให้ภาคเอกชนไทย ต่างมองหาโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งานของรถอีวี โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวีมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน แบตเตอรี่ยังไม่โจทย์การใช้งานเท่าที่ควร จากข้อจำกัด เช่น ราคาแบตเตอรี่ที่แพงเกินไป การกักเก็บพลังงานได้น้อย และใช้เวลาชาร์จนาน เป็นต้น

 

 

ฉะนั้น หากเอกชนรายใดสามารถเข้าไปจับจองเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้ก่อน ก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ปัจจุบัน จึงเห็นเอกชนไทย เริ่มประกาศตัวเข้าสู่ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น

 



บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ที่ปัจจุบัน มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) (โรงงานต้นแบบ) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งได้เปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิต 24M จากสหรัฐ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิต (Start of Regular Production) ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ด้วยกำลังผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh)

 



นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ระบุว่า บริษัท มีแผนขยายโครงการผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ (Giga Scale) ในเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ หรือ มีขนาดกำลังการผลิต เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปีหรือ เท่ากับ 1,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง(MWh) หลังพบว่า โรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ G-Cell กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกกลุ่ม

 



เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย สามารถปรับสูตรผลิตใช้ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ขณะที่โรงงานผลิตในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน และนอร์เวย์ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

 



สำหรับการศึกษาขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าว เบื้องต้น คาดว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยการตัดสินใจขยายการลงทุนในครั้งนี้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเป้าหมายจะขยายเป็น 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง(MWh)นั้น เนื่องจากบริษัท เล็งเห็นขึ้นความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ทั้งรถยนต์, เรือ, รถจักรยานยนต์, รถตุ๊กตุ๊ก, โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

 



นอกจากนี้ GPSC ยังมีโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System)ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขม เพื่อรองรับ EV Station คาดว่า ในอนาคตจะขยายการติดตั้งเพิ่มขึ้น

 



อีกทั้ง GPSC ยังได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. ("AXXIVA") ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี 24 M มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565

 



ขณะเดียวกัน บริษัทแม่ คือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ยังได้จัดตั้ง บริษัท อัลฟ่า คอม จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ตามกลยุทธ์ New S-Curve เช่น การตั้งบริษัท SWAP & GO ซึ่งขณะนี้กำลังทดสอบกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ให้สามารถ Swap หรือการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบการสลับแบตเตอรี่ ด้วยการถอดเอาแบตเตอรี่ออก แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เปลี่ยนพร้อมใช้งานทันที โดยไม่ต้องจอดรอชาร์จไฟฟ้า

 



บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ประกาศตัวชัดเจนว่า เอ็กโก จะไม่ตกเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอีวี โดยจะจับมือกับ กฟผ. จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งมี กฟผ.ถือหุ้น 40% และมีบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และเอ็กโก กรุ๊ป ร่วมถือหุ้นด้วยแห่งละ 30% เพื่อร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ 

 



และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) เช่น สมาร์กริด นวัตกรรมที่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่น การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และแบตเตอรี่ การพัฒนาสถานีไฟฟ้าและระบบส่ง ให้รองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน ในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นต้น

 



นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (เอ็กโก กรุ๊ป) ระบุว่า แบตเตอรี่ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนรถอีวี มีความต้องการมากขึ้น และปัจจุบัน แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ใช้สำคัญรถอีวี มีแนวโน้มราคาถูกลง และความต้องการใช้จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าอีวี ซึ่งจะเป็นโอกาสของของเอ็กโก กรุ๊ป ดังนั้น บริษัทร่วมทุนกับ กฟผ. ก็จะศึกษาโอกาสในเรื่องนี้ และเอ็กโก กรุ๊ป ก็จะร่วมลงทุนด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุนในธุรกิจดังกล่าว รวมถึงเรื่องของสมาร์ทกริดและสมาร์ทมิเตอร์ ซึ่งจะเห็นการลงทุนได้ตั้งแต่ปีนี้ เป็นต้นไป

 



นอกจากนี้ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เข้าถือหุ้น 47.68% ของบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ธุรกิจจัดเก็บพลังงานของสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ในเมืองซูโจว (Suzhou) สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สามารถรองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง และยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน รองรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การใช้งานร่วมกับระบบโซลาร์เพื่อเป็นแหล่งสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply หรือ UPS) การใช้งานสำหรับระบบสมาร์ทกริด หรือ ไมโครกริด (Smart Grid, Microgrid) เพื่อช่วยลูกค้าลดค่าไฟฟ้าด้วยการบริหารการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak)

 



บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ก็เป็นรายแรก ๆ ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพของทางไต้หวันคือ Amita Technologies Inc ซึ่งเป็นโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเฟสแรก ขนาดกำลังการผลิต 1 กิ๊กกะวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี โดยมีแผนติดตั้งเครื่องจักรประมาณสิ้นเดือน เม.ย. - พ.ค.นี้ เริ่มทดสอบการเดินเครื่องใช้เวลา 2 เดือน และคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเดือน ก.ค. 2564

 

 


โดยในระยะแรกทาง EA จะนำมาใช้ในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า MINE SPA 1 และเรือไฟฟ้า นอกจากนี้ แบตเตอรี่ที่จะผลิตสามารถนำไปใช้กักเก็บพลังงาน ในโรงไฟฟ้าทุกประเภท ระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

 



นายดิเรก วินิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวว่า ได้ลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่าง บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 55% และบริษัท อีวีโลโม จากประเทศสหรัฐอเมริกา ถือหุ้น 45% จัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียม กำลังการผลิต 8 กิกะวัตต์ ใน จ.ชลบุรี พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก (อีอีซี) มูลค่า 32,860 ล้านบาท

 



ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่นำสมัยที่สุดของอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ และยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวีของไทย ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก จะช่วยสร้างแรงงานคุณภาพ รายได้สูง ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง