"อวกาศบนข้อมือ" นาฬิกาฝุ่นดวงจันทร์ ราคาเริ่มต้น 15,000
อิสเทอสเทลลา (Interstellar) บริษัทสตาร์ตอัปด้านการสร้างนาฬิกาภายใต้แบรนด์โคล แอนด์ แมคอาเธอร์ (Col & MacArthur) เปิดตัว “ลูนาร์ 1,622” (LUNAR1,622) นาฬิกาฝุ่นจากดวงจันทร์ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อแสดงถึงความสำเร็จ ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์
นาฬิการับรองจาก NASA
ลูนาร์ 1,622 เป็นนาฬิกาที่ได้รับการการรับรองจาก NASA ว่ามีฝุ่นบนดวงจันทร์ถูกบรรจุไว้ภายในจริง ๆ ซึ่งเก็บจากประเทศโมร็อกโกในปี 2017 โดยจะถูกวางไว้ตรงเลข 3 ออกแบบมาให้เป็นรูปรอยเท้าของ นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกของโลกที่ได้เหยืยบพื้นผิวดวงจันทร์ ด้านข้างสลักคำพูดของ นีล อาร์มสตรอง เอาไว้ว่า “One small step for man, one giant leap for mankind.” หรือที่แปลว่า “ก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” รวมถึงยังได้สลักคำว่า Apollo 11 ชื่อ วันที่ของภารกิจ และอักษรย่อของนีลเอาไว้อีกด้วย
ตัวหน้าปัดของนาฬิกา ถูกสร้างขึ้นจากเครื่องพิมม์ 3 มิติ (3D printing) ออกแบบให้เป็นรูปดวงจันทร์ โดยจะมีจุดนูน จุดที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เหมือนกับพื้นผิวของดวงจันทร์จริง ๆ ออกแบบโดย เซบาสเตียน โคเลน (Sebastien Colen) ผู้ก่อตั้งบริษัทนาฬิกาแบรนด์ โคล แอนด์ แมคอาเธอร์ ในประเทศเบลเยียม
ขอบหน้าปัดจะสลักชื่อภารกิจดวงจันทร์ทุกภารกิจของ NASA เอาไว้ โดยมีภารกิจในวงโคจรเป็นสีขาว และตัวเลขลงจอดเป็นสีทอง ด้านหลังของตัวเรือนจะเป็นลายโลโก้ของ NASA โดยมีให้เลือกจับจองทั้งหมด 3 รุ่น ประกอบไปด้วยรุ่นสแตนดาร์ด (Standard), แอดวานซ์ (Advanced), และพรีเมียม (Premium)
ความแตกต่างของแต่ละรุ่น
สำหรับตัวเรือนของรุ่นสแตนดาร์ดและแอดวานซ์จะทำจากสเตนเลสสตีล 316L ต่างกันแค่ตัวสแตนดาร์ดจะไม่มีฝุ่นดวงจันทร์ใส่ไว้ภายใน แต่เป็นภาพกราฟิกรูปรอยเท้าแทน ทั้ง 2 รุ่นใช้ระบบกลไกอัตโนมัติ Miyota 8215 ที่ผลิตในญี่ปุ่น ส่วนรุ่นพรีเมียมใช้กลไกอัตโนมัติ Sellita SW200-1 ที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งโดดเด่นทางด้านระบบเดินเข็มแบบดีดกลับ
นอกจากนี้ตัวเรือนรุ่นพรีเมียมยังทำขึ้นจากไทเทเนียม มีเข็มวินาทีเคลือบทอง ติดตั้งชิป NFC ใช้สำหรับแชร์รายละเอียดของตัวนาฬิกาไปยังสมาร์ตโฟนผ่านการแตะโดยจะบรรจุในกล่องสะสมของ NASA มีวางจำหน่ายจำกัด เพียง 2,025 เรือนเท่านั้น
ทั้ง 3 รุ่นจะหุ้มด้วยกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ กันน้ำได้ลึก 100 เมตร (10ATM) โดยจะมีราคาเต็มอยู่ที่ 549, 849 และ 1,499 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตัวนาฬิกาเปิดระดมทุนอยู่บนแพลตฟอร์มคิกสตาร์ทเตอร์ (Kickstarter) ทำให้อาจจะต้องมีการปรับราคาในภายหลัง
คำว่า ลูนาร์ (Lunar) มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่ใช้ในช่วงยุคกลาง เป็นชื่อเรียกของดวงจันทร์ในตอนนั้น ส่วนตัวเลข 1,622 แสดงถึงแรงโน้มถ่วงบนพื้นผิวของดวงจันทร์ เรียกได้ว่าใครที่เป็นแฟนเกี่ยวกับเรื่องอวกาศ นาฬิกาเรือนนี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลย
แหล่งที่มา youtu.be/bf8UDOHh5sA