"เงินเฟ้อ"ญี่ปุ่นพุ่งกระทบเที่ยวฤดู"ซากุระ"บาน

รายงานจากสถาบันวิจัยไดอิชิ ไลฟ์ ระบุว่า ราคาอาหารที่รับประทานในงานชมดอกไม้บาน หรือฮานามิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ดอกซากุระกำลังบานสะพรั่งทั่วญี่ปุ่น ปลุกให้ผู้คนแห่กันไปปิกนิก แต่ราคาอาหารที่มักรับประทานขณะชมดอกไม้กลับพุ่งสูงขึ้น
“ฮิเดโอะ คุมาโนะ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันฯ พัฒนา “ดัชนีต้นทุนฮานามิ” โดยติดตามสินค้าทั่วไป 14 รายการ อาทิ ข้าวปั้น ข้าวกล่องเบนโตะ ไก่ทอด และเบียร์ ซึ่งดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปถึง 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2562
อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากสุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ 7 แห่ง หรือ G7 โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าสินค้าอื่น ๆ ขณะที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามไม่ทัน ซึ่งกระแสความไม่พอใจเรื่องค่าครองชีพในญี่ปุ่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
สำหรับสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วงเทศกาลชมดอกซากุระบาน รวมถึงขนมแบบดั้งเดิมอย่างซาลาเปาไส้หวาน ขนมโมจิ และน้ำอัดลม ซึ่งขยับขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 256
ส่วนราคาข้าวปั้นพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 32 เนื่องจากราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน เบียร์กลับมีราคาลดลงเล็กน้อย หลังจากรัฐบาลแก้ไขกฎหมายภาษีสุราในปี 2566
เวเธอร์นิวส์ ประเมินว่า รายจ่ายเฉลี่ยต่อคนสำหรับงานฮานามิในปี 2568 อยู่ที่ประมาณ 2,997 เยน หรือราว 20 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น แต่เทศกาลดอกซากุระบานก็ยังเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ “คัตสึฮิโระ มิยาโมโตะ” ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากมหาวิทยาลัยคันไซ ประเมินว่า เทศกาลชมดอกไม้น่าจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้ราว 1.39 ล้านล้านเยน หรือ 9.3 พันล้านดอลลาร์ โดยได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ