หนังสือปลอมระบาด ทำลายวงการหนังสือไทย สร้างค่านิยมการอ่านผิด

ประเทศเรามีเทปผีซีดีเถื่อน แบรนด์เนมก็อป เสื้อผ้าของปลอม และล่าสุดก็ลามมาถึงวงการหนังสือ ที่มีหนังสือปลอมเกิดขึ้นแล้ว
โดยครั้งนี้ หนังสือปลอม ถูกพบในไทยช่วงปลายปี 2567 เมื่อสำนักพิมพ์วีเลิร์นเริ่มแจ้งเตือนพบหนังสือปลอม และได้โพสต์วิธีการแยกแยะหนังสือปลอม-จริง แต่หลังจากนั้นหนังสือปลอมยังลามมากขึ้นช่วงต้นปีนี้ ซึ่งบางเล่มที่ถูกปลอม ก็ทำยอดขายไปได้กว่าพันเล่มเลยด้วยคาดว่าถ้ามีการปลอมมากขึ้น ระบาดมากขึ้น ก็จะสร้างความเสียหายให้กับวงการหนังสือไทยมากขึ้น และในระยะยาวด้วย
แล้วตอนนี้ มีหนังสือไทยถูกปลอมมากแค่ไหน ?
ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือประเทศไทย ตอนนี้ พบว่ามีหนังสือมากกว่า 10 เล่ม และมี 3 สำนักพิมพ์ที่เป็นผู้เสียหาย จากการถูกปลอมหนังสือ มีทั้งนิยายแปล หนังสือ How to และหนังสือแนวจิตวิทยา
TNN Online ได้พูดคุยกับ จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เครือ Biblio ที่มีหนังสือถูกปลอมถึง 2 เล่ม ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จีระวุฒิ เขียวมณี
บรรณาธิการได้บอกกับเราว่า เห็นข่าวนี้ตั้งแต่ตอนปลายปี 67 แต่มาเห็นหนังสือของสำนักพิมพ์ตัวเองที่โดนปลอมคือช่วงมกราคม 68 “มีเพื่อนส่งมา คนอ่านก็ส่งมาด้วย เราก็เริ่มสำรวจที่หน้าร้านในมาร์เก็ตเพลส แล้วพบว่ามีของ Biblio เป็นหนึ่งในหนังสือปลอมนั้นด้วย”
“ตอนแรกก็ตกใจครับ ตกใจเพราะว่า เราไม่คิดว่า หนังสือมันเป็นสิ่งที่น่าปลอมน้อยที่สุดแล้ว มันไม่ได้เป็นเสื้อผ้า ไม่ได้เป็นกระเป๋า ไม่ได้มีมูลค่ามากขนาดปลอมแทรกแซงเข้าไปในตลาด พอหายตกใจ ก็เริ่มรู้สึกกังวล จากที่เราเข้าไปส่องในโซเชียลมีเดีย เราก็รู้ว่าน่าจะเป็นระยะแรกของการทำหนังสือปลอม แล้วก็ขายทางออนไลน์เพื่อแทรกซึมหนังสือปลอมเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหนังสือที่ถูกลิขสิทธิ์ คือเค้าต้องการที่จะทำให้คนอ่านตั้งแยกไม่ออกว่า อันไหนจริงหรือ ปลอม มันคือเฟสแรกของการทดลอง”
“ในการทำงานละเมิดลิขสิทธิ์แบบนี้ แล้วถ้ามันประสบความสำเร็จขึ้นมา เกิดมันเติบโตขึ้นมา หรือไม่มีใครออกมาพูด ไม่มีใครออกมาส่งเสียงเตือนคนอ่าน ก็จะมีโอกาสสูงมากที่จะขับขยายต่อไปในอนาคต” จีระวุฒิกล่าว
จีระวุฒิยังเสริมว่าผลกระทบแรกที่ทางสำนักพิมพ์ได้รับคือ ตัวแทนจำหน่าย และร้านหนังสืออิสระต่างๆ ที่รับหนังสือจากทาง Biblio ไปนั้น เกิดความกังวล “
คู่ค้าของเราจะได้รับผลกระทบก่อน เพราะถ้าคนเข้าใจผิด แล้วไปสั่งหนังสือปลอม ก็จะทำให้ร้านค้าที่รับซื้อสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์ไปจำหน่ายได้รับผลกระทบ ต่อยอดขายของเขา”
นอกจากฝั่งคนทำหนังสือแล้ว ฝั่งภาครัฐเองก็ได้ขยับ หลังการพบหนังสือปลอม โดย ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์กับ TNN Online ว่า
“ทางสมาคมได้พูดคุย และติดต่อสอบถามผู้เสียหายทุกราย ทั้ง 3 ราย เก็บรวบรวมข้อมูล และได้พบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อหาช่องทาง วิถีทางที่จะช่วยเหลือ และป้องกัน ปราบปราม การทำหนังสือปลอมในอนาคต เพราะตอนแรกพบเพียงสำนักพิมพ์เดียว จำนวนน้อย แต่อาจจะเพราะว่า การทำนั้นมีกำไร หรือได้ผล ก็มีการขยายตัวเกิดขึ้น เราก็ต้อง ป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก”
แล้วหนังสือปลอมนี้ ดูยังไงว่าปลอม ?
อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ โลโก้ หนังสือปลอมที่ถูกสวม ใช้โลโก้ สำนักพิมพ์เพนกวิน ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษ
คุณภาพกระดาษ และความหนาของหนังสือปลอมนั้น ยังแตกต่างจากของจริงด้วย
ข้อมูลทางบรรณานุกรม และข้อมูลเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือกับสำนักพิมพ์ที่หายไป
ขณะที่บางสำนักพิมพ์นั้น หน้าเครดิต และคำนำสำนักพิมพ์หายไปทั้งหมดเลย
รวมถึงยังไม่มีของแถมอย่างที่คั่น หรือโอบิหน้าปกด้วย
คนในวงการหนังสือมองว่า ที่เกิดการปลอมหนังสือขึ้นมา นั่นก็เพราะตลาดหนังสือฟื้นตัวขึ้นมาก และมิจฉาชีพมองว่าเป็นธุรกิจที่อาจทำกำไรได้ขึ้นมา โดยมักเลือกปลอมหนังสือ จากลิสต์หนังสือขายดี
“ผมคิดว่าตลาด หนังสือมีการฟื้นตัว จากที่เคยตกลงไป 12,000 ล้าน ตอนนี้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 17,000 ล้าน” ธีรภัทรกล่าว ทั้งยังชี้ว่าหนังสือที่ขายดีนั้น ก็ขายได้เป็นหลักแสนเล่มด้วย
“หนังสือปลอมก็ปลอมหนังสือที่ขายดี หนังสือแปลจากต่างประเทศ ที่มีความซับซ้อนด้านลิขสิทธิ์ ที่ผู้แปล ผู้จัดจำหน่ายต้องใช้ทุน แรง การดำเนินการค่อยข้างสูง แต่ผู้ปลอมหนังสือไม่ต้องลงทุนตรงนี้ เขาใช้แค่เครื่องพิมพ์แล้วก็พิมพ์ ลอกแบบ ก็มีต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากว่าเป็นหนังสือที่ขายดีอยู่แล้ว เขาก็ได้กำไร ทุกอย่างที่มีกำไร พวกมิจฉาชีพก็เล็งของปลอมหมด ดังนั้นการมีหนังสือก็อปปี้ก็อาจจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสินค้าที่สามารถทำกำไรได้ แต่เราก็ต้องปราบปราม และป้องกันอย่างต่อเนื่อง ติดตามถึงต้นตอ ตรงนี้ก็เป็นงานที่ต้องทำงร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ” เขากล่าว
หนังสือปลอมเหล่านี้ มักเจออยู่ในมาร์เก็ตเพลสขายออนไลน์ เนื่องจากผู้ซื้อไม่สามารถจับ และเห็นรูปเล่มโดยตรงได้ จึงง่ายต่อการขายของปลอม ซึ่ง TNN Online เมื่อเจอร้านค้าที่ขายสินค้าปลอมก็ได้สอบถามไปว่าเป็นหนังสือปลอมหรือไม่ ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า “เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ต่างๆ”
แต่ก่อนหน้านี้ เพจเจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน ที่ได้เปิดเผยเรื่องหนังสือปลอม ชี้ว่า กระบวนการเหล่านี้ ช่วงที่มีสัปดาห์หนังสือจะเป็นช่วงเวลาพักผ่อน และหลังจากสิ้นสุดงานหนังสือประมาณ 10 กว่าวัน ก็จะเริ่มทำโปรโมชั่นลดราคาอ้างว่าเป็นเคลียร์สต๊อกล้างสต๊อกโปรโมชั่นหลังจบงานอีกที”
จีระวุฒิเองมองว่า มิจฉาชีพเหล่านี้ได้ศึกษาพฤติกรรมของคนที่ใช้จ่ายในมาร์เก็ตเพลส
“มาร์เก็ตเพลส ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นไหนก็ตาม คนสามารถที่จะรู้ได้ว่ามีร้านค้าที่ขายสินค้าอะไร และขายไปแล้วกี่ชิ้นบ้าง การเห็นจำนวนยอดขายที่ถูกจำหน่ายออกไปตามหน้าร้าน คนที่อยากจะทำธุรกิจของปลอมก็เหมือนมองเห็นโอกาส เพราะว่ายังไม่มีใครทำ พอเป็นหนังสือตลาดที่ขายทางออนไลน์ ก็ลองสุ่ม เอาหนังสือที่มันดูน่าจะเป็นที่ได้รับความนิยมในช่วงปี สองปีที่ผ่านมา แล้วก็เลือกหนังสือกลุ่มนั้นมาทำเป็นหนังสือปลอมเพื่อสอดแทรกกับตลาดปกติทั่วไป
เพราะฉะนั้นถ้ามันจะมีหน้าร้านอีก ซัก 1-4 ร้านที่ขายหนังสือผิดลิขสิทธิ์ โดยที่หน้าตามันเหมือนกันเลย มันก็ตีเนียนไปกับหนังสือที่ถูกลิขสิทธิ์ได้ มันก็ได้เกิดทำให้เกิดการเสียโอกาสทั้งสำนักพิมพ์เอง หรือว่าตัวแทนจัดจำหน่าย”
ปิดช่องทางการขาย แจ้งความ หาทางตัดต้นตอ
สำหรับวิธีการจัดการ ตัวแทนของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ชี้แจงกับเราว่าอยู่ในการดำเนินการ
“ทั้งสามสำนักพิมพ์ก็ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว แต่ว่าจะมีการยกระดับการดำเนินการที่เข้มข้น ภายหลังงานหนังสือที่เสร็จสิ้น เราก็จะรวมตัวกัน โดยมีทาง PUBAT เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักไปพบกับทางหน่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
ทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับสำนักป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เร่งรัดดำเนินการสืบหาต้นตอผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นผู้พิมพ์ หรือไม่ว่าจะเป็นผู้ที่จัดจำหน่ายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น”
ธีรภัทร เจริญสุข
ซึ่งในมาร์เก็ตเพลสแล้ว นอกจากหนังสือภาษาไทยแล้ว ยังมีหนังสือต่างประเทศ ภาษาอังกฤษที่พบปลอมเป็นจำนวนมากในมาร์เก็ตเพลส ซึ่งราคาถูกกว่าหนังสือถูกลิขสิทธิ์มาก และพบเป็นหนังสือดังๆ หลายเล่มด้วย ซึ่งหนังสือเหล่านี้ คาดว่าเป็นหนังสือปลอมที่มาจากฝั่งประเทศอินเดีย ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่
“การจัดการด้านลิขสิทธิ์มันก็มีหลายแบบ ต่างประเทศที่ไม่สนใจเลยส่วนใหญ่ก็คืออินเดีย ส่วนประเทศที่พยายามเต็มที่อย่างตะวันตก หรือจีน ก็พยายามจัดการ แต่หนังสือภาษาอังกฤษที่เราเจอนั้น ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ติดตาม ฟ้องร้องเอง ดังนั้นสมาคมในฐานะนิติบุคคลเราไม่มีอำนาจจะไปฟ้องร้อง หรือแจ้งความ เราเป็นผู้ประสานงาน ติดต่อให้ส่วนราชการ พบผู้เสียหาย” ทางสมาคมระบุ
ทางด้านสำนักพิมพ์เองก็มองว่า วิธีที่จัดการได้รวดเร็วที่สุดคือการปิดช่องทางการขาย
“อันดับแรกที่ทำได้ และไวที่สุดเลยก็คือการปิดช่องทางการขายก่อน เพราะคนพวกนี้ ไม่สามารถจะส่งหนังสือเล่มมาขายตามร้านหนังสือทั่วไปได้ เพราะเห็นความต่างชัดเจน แต่ถ้าขายออนไลน์ก็ยังพอเนียนๆ ไปได้ ดังนั้นถ้าเราสามารถที่จะปิดช่องทางออนไลน์ มันก็เหมือนตัดแข้งตัดขาผู้กระทำผิดไปแล้ว มันก็ลดความเสียหายได้ลงอันดับแรกต่อมาถ้าเราจะไปตามไปขยายผล ไปสู่การจับกุมคนที่ทำสินค้าละเมิดลิขสิทธ์ก็เป็นสเต็ปต่อไป แต่ผมว่ามันควรจะเป็นเรื่องของภาครัฐเข้ามาช่วย Support ของฝั่งคนทำหนังสือด้วย เพราะลำพังแค่ทำหนังสือ แค่ทำธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดได้ก็เหนื่อยแล้ว” บรรณาธิการ Biblio กล่าว
คนทำหนังสือเองยังมีความกังวลว่า การระบาดของหนังสือปลอม จะส่งผลกระทบต่อวงการการอ่าน และค่านิยมของคนไทยในระยะยาว
“ผมกังวลใจว่า ถ้าหนังสือปลอมได้รับความนิยมขึ้นมา มันจะไปค่านิยมผิดให้กับคนอ่าน ว่าหนังสือก็เหมือนกัน อ่านๆ ไปเถอะ แตกต่างกันนิดหน่อยเอง ไม่เห็นเป็นไรเลย อ่านๆ ไปก็ได้ ถ้าค่านิยมแบบนี้กระจายออกไป หรือคนอ่านเองที่อาจจะไม่ได้มาเดินงานหนังสือ หรือไม่ได้เข้าร้านหนังสือ ก็อาจจะมีพฤติกรรมที่คิดว่า โอเค ไม่เป็นไรหรอก สั่งซื้อหนังสือปลอมก็ได้ ได้อ่านหนังสือที่เนื้อหาเดียวกัน ถ้าเกิดความคิดแพร่กระจายขึ้นมา มันก็จะจะยิ่งส่งผลร้ายต่อวงการการอ่านของบ้านเรา เพราะนอกจากที่เราจะต้องกระตุ้น พยายามให้คน” จีระวุฒิ
เช่นเดียวกับ ธีรภัทร ที่ขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมการอ่าน และมองว่าตการระบาดของหนังสือปลอมก็สามารถมาบ่อนทำลาย ตลาดหนังสือที่กำลังฟื้นได้
“ถ้าคุณซื้อหนังสือปลอมมาอ่าน เพราะเห็นว่ามันถูกกว่า หนังสือปลอมเขาต้องการกำไรสูงสุดอยู่แล้ว ทุกบาทที่จ่ายไปจะไม่ถึงสำนักพิมพ์ นักแปล นักเขียน เงินที่ได้ลดลง เงินในวงการหนังสือก็จะลดลง ถดถอยลง คล้ายกับวงการเทปผีซีดีเถื่อน ทำให้วงการเพลงตกต่ำ หรือเกมเถื่อนที่ทำให้วงการเกมตกต่ำ การสนับสนุนผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายที่ถูกต้อง ที่ทำงานทุ่มเท เป็นสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการหนังสือ และตระหนักถึงความสำคัญ
คนในวงการ ไม่ว่านักเขียน สำนักพิมพ์ ตัวลงพิมพ์ คนเรียงพิมพ์ คนทำกราฟฟิค นักว่า มีเบื้องหลัง เพราะฉะนั้นถ้าเห็นคุณค่าเห็นความสำคัญของคนเหล่านั้นเราก็ต้องซื้อหนังสือจริง”