รีเซต

วงการหนังสือจะตาย เมื่อคนไทยเลิกอ่าน? สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้หนังสือรอด

วงการหนังสือจะตาย เมื่อคนไทยเลิกอ่าน? สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้หนังสือรอด
TNN ช่อง16
4 เมษายน 2568 ( 18:06 )
7

ทุกวันนี้คุณยังอ่านหนังสือไหม ? ยังไปร้านหน้าสือ เพื่อซื้อหนังสือเป็นเล่ม หรือสั่งซื้อจากออนไลน์กัน ?

นอกจากงานหนังสือแล้ว ทุกวันนี้ ร้านหนังสือออฟไลน์หาย ลดลงไปเรื่อยๆ จนโอกาสที่นักอ่านจะได้จับหนังสือจริงๆ สัมผัสหน้ากระดาษก่อนที่จะซื้อจริงน้อยลงไปด้วย รวมไปถึงกิจกรรม และการพบปะเพื่อนนักอ่าน ตามร้านหนังสือ ก็อาจจะขาดหายไปด้วย

แต่ถึงอย่างนั้น คนในวงการหนังสือ ก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต ทั้งนอกจากความต้องการ หรือรักษาร้านหนังสือไว้ พวกเขามองว่าอยากให้มีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในไทยให้เข้มแข็งมากกว่านี้ด้วย


ในวิกฤต ก็มีโอกาส เมื่อร้านหนังสือปรับตัวมาในโลกออนไลน์

จากข้อมูลของผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในปี 2565 พบว่า สถานการณ์ของร้านหนังสือทั่วประเทศไทยปัจจุบันมีร้านหนังสือเหลือประมาณ 800 ร้าน จากที่เคยมีถึง 2,483 ร้าน ซึ่งตัวเลขนี้สวนทางกับร้านหนังสือออนไลน์ ที่ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Shopee พบว่า ในปี 2567 พบว่ามีร้านหนังสือเปิดใหม่บน Shopee มากกว่า 500 ร้าน ดังนั้นงานหนังสือแห่งชาติ จึงเป็นเหมือนโอกาสใหญ่ๆ ที่นักอ่านได้มีโอกาสจับรูปเล่ม ก่อนตัดสินใจซื้อจริง

ขณะที่ในการขึ้น และลงของร้านหนังสือออนไลน์ และออฟไลน์นี้ ชยพฤกษ์ กองจันทร์ หัวหน้าบรรณาธิการสำนักพิมพ์ยิปซีเองก็มองว่า มองได้ว่าเป็นทั้งวิกฤต และโอกาสในเวลาเดียวกัน

“ในโอกาสก็คือว่า สำนักพิมพ์ไม่ต้องพึ่งพาร้านหนังสือในการส่งหนังสือไปถึงมือนักอ่าน แต่ในความเป็นวิกฤตนักอ่านก็ไม่ได้เลือกหนังสือด้วยตัวเองเหมือนเดิม ทำให้การตัดสินใจอาจจะยากกว่าเดิม”  แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มองว่า การซื้อหนังสือออนไลน์ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะสะดวก คนอ่านไม่ต้องขับรถออกมาซื้อ และก็เป็นโอกาสให้กับสำนักพิมพ์ด้วย 

ด้านปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ ก็มองคล้ายกันว่า หากไม่มีร้านหนังสือที่มีตัวร้าน หรืองานหนังสือก็ยากกับวงการสิ่งพิมพ์ “ยังมีนักอ่านบางคน ที่อยากจับเล่มก่อน แล้วค่อยซื้อ เราก็พยายามแก้ปัญหานี้ แต่ทุกวันนี้ ก็มีปัญหาที่ว่าคนมาดูของจริง แล้วก็ไปซื้อออนไลน์ ปีที่แล้วจะเป็นเทรนด์นี้ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ แจกโค้ดลดเยอะ คนก็มองว่าไปซื้อออนไลน์ดีกว่า แต่ปีนี้ก็ไม่รู้กระแสจะตีกลับไหม เพราะว่ามีกระแสเรื่องหนังสือปลอม คนก็อาจจะกลัวหนังสือที่ราคาถูกเกิน”

นอกจากร้านหนังสือ ที่ย้ายมาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์กันแล้ว ด้านสำนักพิมพ์เอง ก็ขยับมาเปิดร้านโดยตรงกันในออนไลน์ด้วย ซึ่งสำนักพิมพ์แซลมอนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

“เราขายออนไลน์มาซักระยะแล้ว พยายามที่จะรองรับนักอ่านที่มางานหนังสือไม่ได้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นยอดขายออนไลน์ ก็สู้งานหนังสือไม่ได้อยู่ดี คนก็ยังมาเดินงานมากกว่า ถ้าไม่มีงานหนังสือก็ลำบาก เพราะหลายอย่างยังไม่รองรับ เช่น จะเอาตัวอย่างให้คนทดลองอ่าน ก็ยังไม่สะดวกสบายขนาดนั้น แต่ออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่มี และขาดไม่ได้ ทุกวันนี้ เราก็ผลักดันให้คนซื้อออนไลน์ได้ของสมนาคุณเท่ากับที่ซื้อในงานหนังสือได้” 

“จริงๆ เรารู้สึกว่า คนที่พูดถึงหนังสือ มันก็ย้ายตัวเองมาอยู่โลกออนไลน์กัน มีสมาคมป้ายยา bookstagram กลุ่มรีวิวหนังสือ ย้ายมาอยู่ออนไลน์เยอะเหมือนกัน อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกช่องทางนึง สำหรับการต่อยอดหนังสือ ให้หนังสือเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนต้องรอลงแม็กกาซีน แต่ออนไลน์พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่มาชดเชย ทั้งข้อดีคือ ถ้าคนชอบปุ๊ป เขาซื้อออนไลน์ กดสั่งได้เลย แต่ถ้าหนังสือเล่มนั้นไม่มีถูกพูดถึงเลยในออนไลน์ มันก็จะถูกกลืนไปเลยเหมือนกัน” บก.สำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์กล่าว 

แม้ว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ จะสะท้อนข้อดีของการมีร้านออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านหนังสือแบบออฟไลน์นั้น ก็ยังสร้างกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งประเด็นเรื่องการส่งเสริมร้านหนังสือ ที่มีหน้าร้านในด้านหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงอย่างสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็มีการพูดคุย และนโยบายออกมาเช่นกัน 

ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการของ PUBAT ให้สัมภาษณ์กับเราว่า ทางสมาคมได้พยายาม ส่งเสริมร้านหนังสือ และมีโครงการให้ร้านหนังสือทำกิจกรรม “ถ้าลำพังเพียงการซื้อหนังสือ ซื้อที่ไหนก็ได้ แต่การไปร้านหนังสือคือการสร้างคอมมูนิตี้ สร้างชุมชน สร้างเพื่อน และคนรู้จักจากการอ่าน การจะทำให้ร้านหนังสือที่มีหน้าร้านอยู่ได้ ก็ต้องมีจุดที่แตกต่างจากออนไลน์ สิ่งที่ออนไลน์หาไม่ได้คือเพื่อนนักอ่าน เราส่งเสริมการอ่าน เพื่อนนักอ่าน ชุมชนนักอ่านให้เกิดขึ้นกับหนังสือ

เนื่องจากว่า ร้านหนังสือไม่ว่าจะออนไลน์ หรือออฟไลน์ เราต้องบาล๊านซ์กัน เพราะสุดท้าย เป้าหมายคือทำให้คนอ่านหนังสือ ร้านหนังสือ และสำนักพิมพ์สามารถขายได้ การสร้างชุมชน ร้านหนังสือ ตามทั่วไปก็เป็นการทำงานทั่วไป แต่ในเชิงธุรกิจเราก็ต้องดูความสมเหตุสมผลของทางธุรกิจด้วย ถ้าเราสนับสนุนให้เขายืนอยู่ด้วยตัวเองได้ก็จะเป็นการดี โดยการสร้างชุมชน สร้างความร่วมมือ สร้างความผูกพันธ์ระหว่างคนในชุมชนต่างๆ กับร้านหนังสือที่มีอยู่” ซึ่งทาง PUBAT ก็มองว่า จะเป็นทางออกที่ทำให้ร้านหนังสือออฟไลน์อยู่ได้ด้วย 


สิ่งที่อยากผลักดันมากกว่าร้านหนังสือ คือวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย

บรรณาธิการของสำนักพิมพ์ต่างบอกกับเราว่า การที่ร้านหนังสือปรับตัวเป็นออนไลน์นั้น อาจจะมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในทางลบ แต่ในความเป็นจริงนั้น สิ่งที่พวกเขาอยากผลักดันมากกว่าตัวร้านหนังสือ คือวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย ไปถึงความแฟร์ในการขายของร้านหนังสือเจ้าใหญ่ด้วย 

ปฏิกาล บก.สำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ เปิดประเด็นถึงความแฟร์ในวงการร้านหนังสือว่า  “ร้านหนังสือยังมี แต่สิ่งที่ไม่มีคือจริยธรรมของร้านใหญ่ๆ เพราะว่าทุกวันนี้ร้านหนังสือที่เหลืออยู่คือร้าน chain ขณะที่ร้านอิสระอยู่ยากลงทุกวัน ก็ลด GP (Gross Profit) สำนักพิมพ์ขายเองก็ GP ถูกกว่า แต่ร้านอิสระแข่งสู้กับสำนักพิมพ์ หรือร้านใหญ่ไม่ได้

ขณะที่ร้านใหญ่ก็เลือกที่จะวางหนังสือในเครือของตัวเอง และเกิดเป็นปัญหาอีกว่า ถ้าสำนักพิมพ์ใด สำนักพิมพ์หนึ่งดังขึ้นมา ร้านใหญ่ก็จะเอาข้อมูลไปสร้างสำนักพิมพ์ของตัวเองงอกขึ้นมา เล่มไหนดังๆ เครือใหญ่ก็จะซื้อไป สิ่งนี้ยากกว่าการไม่มีร้านหนังสืออีก” คนในวงการหนังสือสะท้อน

จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์เครือ Biblio เองก็เป็นคนที่มองว่า นอกจากการส่งเสริมร้านหนังสือ เขาอยากให้วัฒนธรรมการอ่านของไทยเข้มแข็งกว่านี้ 

“ในมุมมอง ผมไม่ค่อยจะแบ่งแยกร้านหนังสือที่เป็นที่เป็นช็อปว่าเป็นแบบมีหน้าร้านของตัวเอง หรือจะเป็นออนไลน์สโตร์ เพราะว่าในยุคปัจจุบันทั้งสองรูปแบบนี้ ก็มีวิธีการสื่อสารความเป็นตัวเองแตกต่างกัน แต่ว่าก็อยู่ในอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันของวงการ อย่างเช่นร้านค้าออนไลน์เอง แม้ว่าเค้าจะไม่มีหน้าร้าน แต่ว่าคอนเทนท์หรือรูปแบบที่เค้าสื่อสารในการจำหน่าย ก็หลากหลายแบบ หรือกระทั่งร้านที่เป็นหน้าร้านเองก็มีบรรยากาศของการสร้างการอ่านเล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา เราไม่จำเป็นจะต้องแยกจากกัน ตอนเราต้องการทุกทุกยูนิตที่จะเข้ามาช่วยซัพพอร์ตว่าทำการเข้มแข็ง”

ซึ่งมองตรงกับ บ.ก.ของยิปซี เช่นกัน “ร้านหนังสือจะมากขึ้นหรือไม่ อาจจะไม่ซีเรียสเท่ากับอยากให้คนอ่านหนังสือมากกว่านี้ หรือคนสนใจหนังสือมากกว่านี้ อย่างน้อยมันเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และทำได้เร็วกว่าอินเทอร์เน็ตอีก” 

แต่ถึงอย่างนั้นการผลักดันให้คนสนใจหนังสือมากขึ้น อาจทำได้ยากในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งชยพฤกษ์ แห่ง สนพ.ยิปซีก็บอกกับเราเลยว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างเช่นในช่วงนี้นั้น หนังสือก็มักเป็นสิ่งแรกที่คนเลือกตัดออก ซึ่งทำให้กระทบต่อวงการหนังสืออย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย

“มันเป็นอย่างนั้นมาเสมอ หนังสือในตลาดไทยถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย แค่ว่าอยู่ในช่วงที่เราซื้อของฟุ่มเฟือยน้อยลง มันเลยลำบากกว่าเดิม”

จีระวุฒิ มองในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน แต่เขามองว่าหากเศรษฐกิจไม่ดี แต่เรามีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง นั่นจะช่วงวงการหนังสือได้ “วงการธุรกิจหนังสือ มันก็ลำบากขึ้น เพราะว่าพอเศรษฐกิจไม่ดี แต่สิ่งที่มันจะค้ำจุนวงการหนังสือได้ก็คือวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งที่ส่งเสริมอ่านหนังสือกันอยู่ แม้ว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมันจะไม่ดีก็ตาม แต่ตราบใดที่วัฒนธรรมการอ่านบ้านเราไม่ได้เข้มแข็งมาก เวลาเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่คนจะเลือกคัดออกไปก่อนเลยก็คือหนังสือ เราคาดหวังให้เศรษฐกิจดีขึ้นในทันทีไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะทำให้วัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งขึ้นได้ แล้ววัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งขึ้นได้ มันต้องกระจายไปในวงกว้างด้วย ร้านค้าหนังสืออิสระ คอมมูนิตี้ของนักอ่าน หรือภาคคนทำหนังสือ และหน่วยงานภาครัฐด้วย ที่จะต้องร่วมมือกัน ถ้าข้อต่อใดข้อต่อนึงไม่ร้อยต่อเป็นวงจรเดียวกัน โอกาสทำให้อุตสหกรรมหนังสือเข้มแข็งข้ึน ก็อาจจะลำบากขึ้น”  

“จริงๆ ผมมีมุมมองว่าวัฒนธรรมการอ่านบ้านเรามันดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะว่าเทคโนโลยีด้วย มีโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เข้ามาช่วยสื่อสารเรื่องราวในหนังสือ หรือมีคอมมูนิตี้ของนักอ่านที่มากขึ้น แต่มันก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้หนังสือทุกแนว ทุกประเภทอยู่ในระดับความสนใจ ที่จะมีกำลังซื้อก็ตามมา

พูดง่ายๆ วัฒนธรรมการอ่านบ้านเรามีรากฐานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ต้องมีการปลูกฝังอีกมาก แล้วก็ต้องเริ่มจากจากหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้ามามองเห็นว่าการอ่านที่แท้จริง ที่มันจะเป็นเป็นรากฐานให้กับวงการหนังสือมันคืออะไรก่อน มันต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพราะถ้าเรามองแค่ว่า คนที่อ่านหนังสือ คือคนที่เข้างานหนังสือเยอะอย่างเดียว ก็จะไม่ใช่ทางออก วัฒนธรรมการอ่านต้องเกิดขึ้น  24 ชั่วโมงในทุกๆ วัน หากมีกลุ่มคนอ่านที่เข้มแข็งขึ้นมาได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี หรืออะไรก็ตาม แต่ว่าวัฒนธรรมการอ่าน จะค้ำจุนวงการนี้ไว้ได้”

ขณะที่ปัจจุบัน THACCA (Thailand Creative Content Agency) มีนโยบายส่งเสริมแต่ละอุตสาหกรรม Soft Power และนโยบายเพื่ออุตสาหกรรมหนังสือไทย และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 69 ล้านบาทให้กับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งแม้ว่าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน Soft Power นั้น อาจจะน้อยที่สุด แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่อุตสหกรรมหนังสือได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล  

ซึ่งคาดหวังว่างบประมาณ และการสนับสนุนตรงนี้ จะสามารถช่วยผลักดันทั้งร้านหนังสือ และวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นให้วงการนี้ได้เติบโต และเป็น Soft Power หนึ่งของไทยได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง