รีเซต

ทำไมปรากฏการณ์ “ลานีญา” เคยมีชื่อ “ผู้ต่อต้านพระเยซู” จนเป็นปมบาดหมางทางศาสนา

ทำไมปรากฏการณ์ “ลานีญา” เคยมีชื่อ “ผู้ต่อต้านพระเยซู” จนเป็นปมบาดหมางทางศาสนา
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2567 ( 16:34 )
27
ทำไมปรากฏการณ์ “ลานีญา” เคยมีชื่อ “ผู้ต่อต้านพระเยซู” จนเป็นปมบาดหมางทางศาสนา

แน่นอน ลานีญาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์โลก ไม่แตกต่างจากเอลนีโญ แต่ใครจะทราบอย่างแท้จริงว่า ลานีญา เพิ่งได้รับการ “ตั้งข้อสังเกต”ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศอย่างจริงจัง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970s และกลายเป็นหน่วยศึกษาที่ได้รับความนิยมในหลักวิชา “ภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา (Paleoclimatology)” เลยทีเดียว


แต่ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น หากทำการสืบสาว “นิรุกติศาสตร์ (Etymology)” ของลานีญา จะพบว่า มีความเกี่ยวพันกับ “ศาสนาคริสต์” ซึ่งนักภูมิอากาศวิทยานำมาใช้ “ตั้งชื่อ” ปรากฏการณ์ที่เพิ่งค้นพบ เพื่อเลี่ยง “ความตึงเครียด” ทางศาสนาเลยทีเดียว


เรื่องนี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร เราสรุปมาให้แล้ว


“ส่วนพิลึก” ของเอลนีโญ


ก่อนอื่นนั้น ต้องทำความเข้าใจ “ประวัติศาสตร์ของการศึกษาวิจัย” เอลนีโญเสียก่อน แน่นอน ปรากฏการณ์นี้ มีมาตั้งแต่สมัยสุเมเรียน โดยอาศัย “การเทียบเคียง” ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างความแห้งแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ ว่าเป็นการ “แปรผกผัน” กับอารยธรรมในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากสุเมเรียน อาทิ หากสุเมเรียนแห้งแล้ง มิซซิสซิปปีจะหนาวเหน็บ ส่วนอินคาจะฝนตกหนัก เป็นต้น


ทั้งนี้ มีนักภูมิอากาศวิทยากลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ “เชิงเปรียบเทียบ” ในพื้นที่หนึ่งกับพื้นที่หนึ่ง ดังตัวอย่างข้างต้น เหตุใดเราจึงไม่อาจ “สร้างคำอธิบาย” ปรากฏการณ์ที่เป็น “ส่วนกลับ” ของเอลนีโญใด ๆ เลย ยกตัวอย่าง สุเมเรียนน้ำท่วม แต่มิซซิสซิปปีกลับแห้งแล้ง ส่วนอินคาเกิดไฟป่าและพายุโซนร้อน 


หากจะอธิบายว่าเป็นเพียงเรื่องของ “ฤดูกาล” จะอาจไม่สมเหตุสมผล เพราะอย่าลืมว่า ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่รุนแรง เป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัย 


ดังนั้น พวกเขาจึงได้ทำการศึกษาวิจัยจนพบว่า แท้จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องของฤดูกาล แบบปกติภายหลังจากการเกิดเอลนีโญ หากแต่เป็น “ผลลัพธ์” ทางปรากฏการณ์ภูมิอากาศ “อีกแบบหนึ่ง” 


ถึงแม้ว่าจะค้นพบปรากฏการณ์ที่สำคัญเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่อาจสร้างฉันทามติ ถึงการเรียกสิ่งที่ค้นพบนี้


โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960s ส่วนใหญ่เรียกว่า “Años de Abundanci” ที่หมายถึง “ปีแห่งความอุดมสมบูรณ์” โดยอิงจากพื้นที่ในเขตทางใต้ ที่จะมีฝนตกชุก ทำให้เหมาะสมกับสังคมเกษตรกรรม


ต่อมา ชื่อเรียกดังกล่าวไม่เหมาะสมตาม “หลักวิชาวิทยาศาสตร์” เพราะมีความยาวและไม่เป็นทางการมากจนเกินไป ดังนั้น จึงมีการเปลี่ยนอีกครั้ง โดยเรียกว่า “Anti-niño” ซึ่งถอดความง่าย ๆ ว่า “สิ่งตรงข้ามกับเอลนีโญ”


ก่อนที่ เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980s ถึงต้น 1990s ความเปลี่ยนแปลงด้าน “ศัพท์บัญญัติ” จะนำมาสู่ฉันทามติของภูมิอากาศวิทยาไปอย่างไม่น่าเชื่อ


“ศาสนา” ใน “วิทยาศาสตร์”


ในโลกปัจจุบัน เรามักได้รับการขัดเกลาทางการศึกษามาว่า เรื่องทาง “วิทยาศาสตร์และศาสนา” แยกขาดจากกันแบบขั้วตรงข้ามสัมบูรณ์ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของ “ตรรกวิทยาและการพิสูจน์เชิงกายภาพ” ส่วนศาสนาเป็นเรื่อง “ความเชื่อส่วนบุคคลและตำนาน”


การกล่าวเช่นนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ในส่วนของ “หลักวิชา” แต่หารู้ไม่ว่า ในส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ศาสนาไม่สามารถแยกออกไปได้แบบหมดจด อย่างน้อย ๆ ก็คือเรื่อง “ศัพท์บัญญัติ” ทางวิทยาศาสตร์ 


แน่นอน ลานีญา เป็นหนึ่งในนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


อย่างที่ทราบกันดีว่า เอลนีโญ มีรอยทางมาจากภาษาสเปน ที่ถอดความได้ว่า “เด็กชาย” แต่จริง ๆ เป็นการถอดความที่ “ตื้นเขิน” และขาดความเข้าใจทาง “นิรุกติศาสตร์” อย่างมาก เพราะหากสืบสาวจริง ๆ จะพบว่า เอลนีโญ มีความเกี่ยวพันกับ “คริสต์ศาสนา” โดยหมายความว่า “บุตรแห่งพระเยซูเจ้า” โดยชาวประมงแถบเปรู เรียกขานกระแสน้ำอุ่นตอนไปทำประมง ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วง “คริสต์มาส” 


ด้วยการเล็งเห็นถึงจุดนี้ ยอร์ช ฟิลานแดร์ (George Philander) นักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยาชาวแอฟริกาใต้ ผู้นับถือศาสนาคริสต์จึงรับไม่ได้อย่างมาก ที่ในวงการจะมาเรียกขานด้วยชื่อ Anti-niño 


นั่นเพราะ ในเชิงคำศัพท์ สามารถถอดความได้ว่า “ผู้ต่อต้านองค์พระเยซู” ซึ่งสำหรับคริสต์ศาสนิกชน เป็นเรื่องต้องห้ามมานาน ไม่ว่าจะเป็นสัญญะของการตรึงกางเขนจากพวกโรมัน สัญญะของสงครามครูเสดในการแย่งชิงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หรือสัญญะของยุคเรเนอซองส์ที่ทำให้ศาสนจักรแทบสิ้นลง


ดังนั้น เขาจึงเป็นผู้ที่ทำการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้เสียใหม่ ให้ไม่ “รำคาญใจ” ชาวคริสต์แบบเขามากจนเกินไป โดยหันไปใช้ศัพท์ว่า “La Niña” ที่ถอดความได้ว่า “บุตรี” ซึ่งล้อไปกับเอลนีโญที่มี “เครื่องเพศ” ในศัพท์ที่เป็นบุรุษ


ลานีญาปรากฎในงานศึกษาของฟีลานแดร์ ที่ชื่อ El Niño and La Niña ซึ่งเป็นงานศึกษาที่พยายาม “ถมช่องว่าง” ทางวิชาการของนักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยาที่ได้กระทำการศึกษาปรากฏการณ์นี้มาก่อนหน้า โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่อง “กระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิก” ที่แต่ก่อนเชื่อกันว่าเคลื่อนเพียงในแถบละตินอเมริกา แต่จริง ๆ กลับเคลื่อนในระยะทางที่ไกลกว่านั้น อาจไปไกลจนถึงอินเดียเลยทีเดียว ไม่เช่นนั้น ดินแดนแถบตะวันออกกลางจะเกิดเอลนีโญได้อย่างไร


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ศัพท์บัญญัติใดศัพท์บัญญัติหนึ่ง หากสืบสาวรอยทางแล้ว ย่อมพบกับความสลับซับซ้อน ที่เกี่ยวพันกับหลักวิชาและชุดวิธีคิดในหลากหลายแนวทาง โดยเฉพาะ ความเข้าใจที่หลายคนคิดว่า “ปกติ” ในเรื่องของวิทยาศาสตร์และศาสนา ว่าแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งที่จริง ๆ มีความ “แอบแฝง” อย่างคาดไม่ถึงอยู่ไม่น้อย


แหล่งอ้างอิง


  • บทความ El Niño and La Niña

  • หนังสือ El Niño in World History

  • หนังสือ El Niño in History: Storming Through the Ages 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง