NASA เจอน้ำและปริศนาใหม่ในดาวหางบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก
นักดาราศาสตร์ใช้เครื่องมือสเปกโตรกราฟอินฟราเรดช่วงใกล้ (NIRSpec) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) เพื่อตรวจสอบดาวหางในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก (Asteriod Belt) ซึ่งพบว่ารอบดาวหางมีน้ำอยู่ในลักษณะของก๊าซ อันเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำแข็งในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะอาจถูกกักเก็บไว้ในดาวหางที่อยู่บริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก
ดาวหางอาจเป็นกุญแจไขปริศนาแหล่งที่มาของน้ำบนโลก
โดยน้ำเป็นสสารปริศนา เนื่องจากไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่ชัดว่าน้ำมาอยู่บนโลกของเราได้อย่างไร ซึ่งหากนักดาราศาสตร์สามารถศึกษาย้อนหลังเกี่ยวกับการเดินทางของน้ำในระบบสุริยะได้สำเร็จ จะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางของน้ำในระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สามารถคาดเดาแนวโน้มการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกระบบสุริยะได้
“โลกที่เต็มไปด้วยน้ำของเรา ซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตและมีเอกลักษณ์เฉพาะในจักรวาลนั้นเป็นสิ่งที่ลึกลับ เราไม่แน่ใจว่าน้ำทั้งหมดมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร” - สเตฟานี่ มิแลม (Stefanie Milam) นักดาราศาสตร์ประจำโครงการศึกษาดาวเคราะห์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์กล่าว
องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับที่มาของดาวหาง
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวหางที่โคจรเข้าหาดวงอาทิตย์มีที่มาจากแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปและเมฆออร์ต (Oort Cloud) ซึ่งเป็นชั้นเมฆในอวกาศที่ล้อมรอบระบบสุริยะอยู่เป็นทรงกลม แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบว่ามีดาวหางอยู่บริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลักด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังพบด้วยว่า 1 ในดาวหางบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลักที่ชื่อ ‘ดาวหาง 238พี/รีด (Comet 238P/Read)’ ไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถตรวจจับได้ ซึ่งแตกต่างจากคุณลักษณะปกติที่ตรวจพบในดาวหางดวงอื่น ๆ โดยนักดาราศาสตร์จะทำการศึกษาต่อไปเพื่อทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างนี้
ข้อมูลและภาพจาก NASA