รีเซต

วิตามินดี ช่วยลดความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้จริงหรือไม่?

วิตามินดี ช่วยลดความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้จริงหรือไม่?
TNN ช่อง16
2 สิงหาคม 2564 ( 22:36 )
217

ในช่วงการระบาดของ COVID-19 นักวิทยาศาสตร์ทุกแห่งหนต่างพยายามค้นหาสารที่มีสรรพคุณในการป้องกันการติดเชื้อ หรือช่วยบรรเทาไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และสามารถฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็วขึ้น ล่าสุดมีการกล่าวถึง วิตามินดี (Vitamin D) ในการลดความรุนแรงของโรคมากขึ้น ซึ่งในบทความนี้จึงขอนำข้อมูลให้ผู้อ่านได้นำไปพิจารณาเพิ่มเติม



วิตามินดีได้มาจากไหน 


เชื่อว่าเด็กไทยทุกคนคงจะได้เรียนในวิชาสุขศึกษากันมาบ้างแล้วว่า ผิวหนังของมนุษย์สามารถผลิตวิตามินดีได้เอง โดยใช้รังสี UVB จากแสงแดด ประกอบการเปลี่ยนแปลงของชั้นไขมันใต้ผิวหนังทำให้เกิดเป็นวิตามินดี ซึ่งกระบวนการนี้สร้างวิตามินดีได้มากถึง 80% ของที่ร่างกายต้องการ และอีก 20% ได้มาจากอาหาร เช่น ปลาแซลมอน, ปลาทู, น้ำมันตับปลา หรือแม้กระทั่งโยเกิร์ตก็มีวิตามินดีอยู่ด้วยเช่นกัน





บทบาทของวิตามินดีในร่างกายมนุษย์


หน้าที่สำคัญของวิตามินดีในร่างกายมนุษย์อย่างแรกคือการรักษาสมดุลของแคลเซียมและมวลกระดูกในร่างกาย ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะโรคกระดูกพรุนจะต้องได้รับยาเสริมวิตามินดีด้วย ดังนั้นบทบาทหลักของสารอาหารชนิดนี้จึงเน้นไปในเรื่องของกระดูกเสียส่วนใหญ่


แต่นอกเหนือจากการรักษาสมดุลของมวลกระดูกแล้ว วิตามินดียังมีส่วนช่วยในการควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย ซึ่งจะขอกล่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 โดยตรง คือช่วยลดกระบวนการอักเสบของร่างกาย ซึ่งวิตามินดีจะลดการเจริญเติบโตของเม็ดเลือดขาวไปเป็นชนิด T Helper 17 (Th-17) รู้จักกันในชื่อ Pro-inflammatory T Helper cell เม็ดเลือดขาวที่เปลี่ยนมาเป็นชนิดนี้ จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารก่อการอักเสบที่ทางการแพทย์เรียก Proinflammatory cytokine (ไซโตไคน์กระตุ้นการอักเสบ) นั่นเอง 

ที่มาของภาพ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3166406/

 


นอกจากนี้ วิตามินดียังช่วยเพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Regulatory T cell หรือ T cell ควบคุม ให้หลั่งสารยับยั้งการอักเสบ เช่น Interleukin-10 (IL-10 หรืออินเตอร์ลิวคิน) เป็นตัวเอกหลักในการควบคุมการอักเสบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการควบคุมกระบวนการอักเสบของวิตามินดี จึงกลายเป็นบทบาทสำคัญที่นำไปสู่การลดความรุนแรงของโรค COVID-19 แต่จะเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้นจะขอกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป



COVID-19 และภาวะ Cytokine Storm


แท้จริงแล้วอาการแสดงที่รุนแรงจาก COVID-19 นั้น ไม่ได้มาจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการตอบสนองของร่างกาย ที่หลั่งสารกระตุ้นการอักเสบออกมามากจนเกินไป ส่งผลให้อวัยวะเกิดการอักเสบรุนแรงและทำงานผิดปกติ ลองคิดดูว่าขนาดที่เราเกิดสิวอักเสบเพียงเล็กน้อยขึ้นบนใบหน้ายังทำให้เจ็บมากมาย แล้วถ้าปอดของเรารวมถึงอวัยวะส่วนอื่นเกิดการอักเสบไปทั่วคงจะรุนแรงไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว ภาวะเหล่านี้เรียกว่า Cytokine Storm หรือพายุไซโตไคน์


จากข้อมูลก่อนหน้านี้หลายคนคงทราบแล้วว่า ไซโตไคน์เป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการอักเสบ ซึ่งกระบวนการอักเสบนี้เดิมร่างกายสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย แต่ถ้ามีมากเกินไปนอกจากมันจะทำลายเชื้อแล้ว มันยังทำให้เชลล์และอวัยวะในร่างกายถูกทำลายไปด้วย ดังนั้น วิตามินดีจึงน่าจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะ Cytokine Storm ในผู้ป่วย COVID-19 และลดความรุนแรงของโรคที่จะตามมาในภายหลัง




ข้อมูลจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวถึงงานวิจัยจาก Irish Medical Journal พบว่ามีความสัมพันธ์ ระหว่างอัตราการตายและอัตราการติดเชื้อ COVID-19 สูง ในประเทศสเปนและอิตาลี ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศซึ่งตั้งอยู่ในแถบยุโรปตอนใต้ ที่มีแสงแดดและความอบอุ่น แต่มีสัดส่วนของคนที่ขาดวิตามินดีสูง ในขณะที่ประเทศในยุโรปตอนเหนือ เช่น กลุ่มประเทศนอร์ดิก กลับมีอัตราตายและอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า เพราะประเทศกลุ่มนี้มีการเสริมวิตามินดีในอาหารเป็นปกติมานานแล้ว ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดวิตามินดี งานวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ของการขาดวิตามินดีและอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 จึงมีนัยสำคัญทางสถิติ


อย่างไรก็ตาม จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ หรือ Systematic Review ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ความเชื่อมโยง จากเว็บไซต์ Cochrane Library พบว่างานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการเกิดอาการรุนแรงของโรค COVID-19 กับการขาดวิตามินดี ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคตับ, โรคไต, การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือมีสุขภาพดั้งเดิมไม่แข็งแรง มีอัตราส่วนที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงในผู้ป่วย COVID-19 ได้พอ ๆ กับการขาดวิตามินดี ดังนั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วการขาดวิตามินดีเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงของ COVID-19 ด้วยหรือไม่


ซึ่งผู้นำเสนอบททบทวนวรรณกรรมนี้ให้ความเห็นว่า การสรุปว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยลดความรุนแรงจากโรค COVID-19 นั้น ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนได้ การทดลองที่จัดทำในประเทศสเปน 2 ฉบับ และในประเทศบราซิลอีก 1 ฉบับ ยังไม่มีการควบคุมหรือออกแบบการทดลองได้ดีพอ ดังนั้น ควรรอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลอง



ร่างกายของเราเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดีหรือไม่


สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น มีความเห็นว่าแม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้หรือไม่ แต่ถ้าหากร่างกายของคุณขาดวิตามินดีก็คงเป็นผลเสียมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ต้องมีการ Work from home กันมากขึ้น โอกาสที่ร่างกายจะได้รับแสงแดดจึงลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน 


งานวิจัย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์และคณะ ได้ศึกษาระดับวิตามินดีในเลือดของพนักงงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่น่าจะได้เจอแสงแดดค่อนข้างน้อย พบว่า 36.5% ของกลุ่มตัวอย่างมีวิตามินดีต่ำกว่าเกณฑ์ ดังนั้น จะเห็นได้คุณอาจมีความเสี่ยงในการขาดวิตามินดีมากขึ้นหากต้องอยู่ในภาวะ Work from home นี้ไปเรื่อย ๆ


ซึ่งการที่ผิวหนังจะสามารถสังเคราะห์วิตามินดีให้เพียงพอได้นั้น ควรให้ผิวหนังได้สัมผัสกับแสงแดดอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน ซึ่งคุณอาจจะไม่จำเป็นต้องยืนแช่นาน 15 นาทีก็ได้ แต่เฉลี่ย ๆ ให้ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ควรสวมเสื้อผ้าและกางเกงขาสั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการรับแสงแดด และในระหว่างที่รับแสงแดดนี้ไม่ควรทาครีมกันแดด เนื่องจากจะเป็นการบดบังรังสี UVB


แม้จะเป็นช่วงเวลาที่คุณอาจมีโอกาสได้ออกไปนอกบ้านน้อยลง แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้ออกไปรับแสงแดดหน้าบ้านสักหน่อย เพียง 15 นาทีเท่านี้ก็จะได้รับวิตามินดีเกือบจะทั้งหมดที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1,2,3,4

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง