ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูล "โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย" อาการป่วยอาจรุนแรงกว่าเดิม!
ข่าววันนี้ (8 พ.ค.65) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า
"การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง “452” อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ “โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1” มีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น (high transmissibility) อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์(ปอด)จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว (multinucleated syncytial pneumocytes) ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ “เดลตา” ที่ระบาดในอดีต
จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งจีโนมพบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ "452” จากกรดอะมิโน "ลิวซีน (L)” เปลี่ยนมาเป็น "อาร์จีนีน (R)” หรือ "กลูตามีน (Q)” (ภาพ 1) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงถูกจับ และทำลายด้วยแอนติบอดีที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน
บรรดาเซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว(infected multinucleated syncytial pneumocytes) จะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอม และเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส(syncytial pneumocytes) เหล่านั้น เกิดการอักเสบลุกลามเกิดเป็นปอดบวมอันอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้
สายพันธุ์ “เดลตา” มีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น “R452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง (high pathogenicity) อันเนื่องมาจากเกิดอาการปอดอักเสบจากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)
ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1, BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์ กรดอะมิโนยังคงเป็น “L452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเขียว) ซึ่งสอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิด syncytial pneumocytes ในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ
แต่ที่น่ากังวลคือทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่ WHO ประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452 (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบฟ้า) ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกาก็มีการกลายพันธุ์เป็น “Q452” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบเหลือง) กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์ “เดลตา” (ภาพ1 และ ภาพ 2 กรอบแดง) คือสามารถก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน (syncytial pneumocytes)
ดังนั้นมีแนวโน้มที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่ง WHO
และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4 สัปดาห์จากนี้
โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของสองประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม
https://www.nature.com/articles/s41392-022-00941-z
https://www.forbes.com/.../birth-of-the-omicron.../..."
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี