Rafale vs J-10C เปรียบเทียบศึกเครื่องบินขับไล่แห่งเอเชียใต้ อินเดียปะทะปากีสถาน

ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถาน เครื่องบินขับไล่ถือเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ โดยทั้งสองประเทศต่างเสริมศักยภาพทางอากาศด้วยเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง
ซึ่งในปัจจุบัน อินเดียประจำการเครื่องบิน Dassault Rafale จากฝรั่งเศส ขณะที่ปากีสถานเลือกใช้ Chengdu J-10C Vigorous Dragon จากจีน เรามาดูรายละเอียดเปรียบเทียบของทั้งสองรุ่นกัน
1. ข้อมูลพื้นฐานและผู้ผลิต
Rafale ผลิตโดยบริษัท Dassault Aviation ประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 แบบสองเครื่องยนต์ (Snecma M88-2)
J-10C ผลิตโดย AVIC (Chengdu Aircraft) ประเทศจีน เป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 เช่นกัน ใช้เครื่องยนต์ WS-10B หรือ AL-31FN
2. ความเร็วและพิสัยการบิน
ความเร็วสูงสุดของทั้งสองรุ่นใกล้เคียงกันที่ Mach 1.8 โดย Rafale ทำความเร็วได้ 2,222 กม./ชม. ส่วน J-10C อยู่ที่ 2,205 กม./ชม.
Rafale มีพิสัยการบินไกลกว่า โดยบินได้ถึง 1,850 กม. (เมื่อใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเสริม) ส่วน J-10C บินได้ประมาณ 1,200 กม.
3. อาวุธและเทคโนโลยี
Rafale สามารถติดตั้งอาวุธขั้นสูงอย่าง Meteor, MICA, SCALP, HAMMER โดยมีจุดเด่นคือ ขีปนาวุธ Meteor ที่มีระยะยิงไกลระดับต้น ๆ ของโลก
J-10C ติดตั้งขีปนาวุธ PL-15 และ PL-10 โดยมีจุดเด่นด้าน ความคล่องตัวสูง และ เรดาร์ AESA ขั้นสูง
4. จำนวนประจำการและราคา
อินเดียมี Rafale จำนวน 36 ลำ ประจำการในฝูงบินที่ 17 (Golden Arrows) และฝูงบินที่ 101 (Falcons) ราคาประมาณ 3,600–4,300 ล้านบาทต่อลำ
ปากีสถานมี J-10C จำนวน 25 ลำ ราคาประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อลำ
ทั้ง Rafale และ J-10C ต่างเป็นเครื่องบินขับไล่ยุค 4.5 ที่มีจุดแข็งเฉพาะตัว Rafale เหนือกว่าด้วยพิสัยบินไกลและขีปนาวุธ Meteor ที่ทรงพลัง ขณะที่ J-10C ได้เปรียบในแง่ต้นทุนที่ต่ำกว่าและความคล่องตัว ทั้งสองจึงถือเป็นกำลังทางอากาศสำคัญในการรักษาสมดุลทางทหารในเอเชียใต้ที่ยังคุกรุ่น