ใหญ่สุดในโลก! จีนสร้าง 'ระเบียงพลังงานสะอาด' จากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ 6 แห่ง
เฉิงตู, 20 ธ.ค. (ซินหัว) -- บริษัท ไชน่า ธรี กอร์เจส คอร์เปอเรชัน (CTG) ของจีน เผยว่าสถานีไฟฟ้าพลังน้ำไป๋เฮ่อทาน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกในแง่กำลังการผลิตติดตั้งรวม เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบบริเวณตอนบนของแม่น้ำแยงซีทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในวันอังคาร (20 ธ.ค.)
การเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดการก่อสร้างระเบียงพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประกอบด้วยสถานีไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่งบนแม่น้ำแยงซี ที่ดำเนินงานจัดส่งไฟฟ้าจากพื้นที่ทางตะวันตกอันอุดมด้วยทรัพยากรไปยังบรรดาภูมิภาคที่ใช้พลังงานมากทางตะวันออกสถานีไฟฟ้าพลังน้ำไป๋เฮ่อทานเปิดดำเนินงานเต็มรูปแบบ
หลังหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งสุดท้ายจากทั้งหมด 16 หน่วย เสร็จสิ้นการทดลองเป็นเวลา 72 ชั่วโมงเมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (20 ธ.ค.) โดยไป๋เฮ่อทานเป็นสถานีไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังผลิตติดตั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีน รองจากโครงการเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam) ในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลาง ด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 16 ล้านกิโลวัตต์
เหลยหมิงซาน ประธานบริษัทฯ กล่าวว่าไป๋เฮ่อทานแสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ของจีน เนื่องจากมีการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าพลังน้ำผลิตเองถึง 16 หน่วยที่มีกำลังการผลิต 1 ล้านกิโลวัตต์ต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นกำลังการผลิตหน่วยเดียวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เหลยเสริมว่าการดำเนินงานเต็มรูปแบบของไป๋เฮ่อทานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานของจีน การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี และการพัฒนาแบบผสมผสานของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในประเทศมีการคาดการณ์ว่าสถานีไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่งบนแม่น้ำแยงซี ซึ่งล้วนดำเนินการโดยบริษัทฯ จะผลิตไฟฟ้าได้ 3 แสนล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งช่วยลดการใช้ถ่านหินลง 90 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 248 ล้านตัน
อนึ่ง สถานีไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วยสถานีไฟฟ้าพลังน้ำอูตงเต๋อ ไป๋เฮ่อทาน ซีลั่วตู้ และเซี่ยงเจียป้า ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำจินซานทางตอนบนของแม่น้ำแยงซี และสถานีไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสามผาและเก่อโจวป้า ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของแม่น้ำแยงซีสถานีไฟฟ้าพลังน้ำทุกแห่งข้างต้นก่อตัวเป็นระเบียงพลังงานสะอาดความยาว 1,800 กิโลเมตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านการควบคุมน้ำท่วม การเดินเรือ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ ตลอดจนความมั่นคงทางระบบนิเวศในลุ่มแม่น้ำแยงซี