รีเซต

นักวิทย์ค้นพบคลื่นวิทยุจากนอกโลกที่ไม่เคยเกิดมาก่อน มีสัญญาณสม่ำเสมอคล้ายชีพจรมนุษย์

นักวิทย์ค้นพบคลื่นวิทยุจากนอกโลกที่ไม่เคยเกิดมาก่อน มีสัญญาณสม่ำเสมอคล้ายชีพจรมนุษย์
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2565 ( 16:14 )
420
นักวิทย์ค้นพบคลื่นวิทยุจากนอกโลกที่ไม่เคยเกิดมาก่อน มีสัญญาณสม่ำเสมอคล้ายชีพจรมนุษย์

นักดาราศาสตร์แคนาดา ตรวจพบคลื่นวิทยุแปลกปลอมจากกาแล็กซี่อื่น โดยคลื่นดังกล่าวมีลักษณะคล้ายสัญญาณชีพจรมนุษย์ ทั้งคงอยู่นานกว่าการเกิดขึ้นของ สัญญาณระเบิดของคลื่นวิทยุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Fast Radio Burst-FRB) ทั่วไป ทั้งยังมีรูปแบบสัญญาณที่สม่ำเสมอ


FRB เป็นสัญญาณระเบิดของคลื่นวิทยุจากอวกาศที่มีความเร็วสูงมาก และมักจะเกิดขึ้นในเวลาระดับมิลลิวินาทีเท่านั้น บางครั้งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว บางคลื่นเกิดขึ้นซ้ำ ทั้งในรูปแบบสุ่มหรืออยู่ในรูปแบบที่คาดเดาได้ ที่ผ่านมามีการจดบันทึกการเกิดขึ้นของ FRB หลายร้อยรายการ นับตั้งแต่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว


ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ CHIME (Canadian Hydrogen Intensity Mapping Experiment - CHIME) ตั้งอยู่ในเขตบริติช โคลัมเบีย (British Columbia) ของประเทศแคนาดา ตรวจพบ FRB ที่มีรูปแบบไม่เหมือนใคร โดย FRB อื่น ๆ มักจะเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที ขณะที่ FRB ใหม่นี้ ที่ถูกตั้งชื่อว่า FRB 20191221A คงอยู่เป็นเวลาหลายวินาที และที่ประหลาดไปกว่านั้น คลื่นวิทยุดังกล่าวเกิดซ้ำทุก ๆ 0.2 วินาที ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยเห็นใน FRB ครั้งไหน ๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อน


ดานิเอเล มิชิลลี หัวหน้าทีมวิจัยเผยว่า “คลื่นวิทยุนี้ผิดปกติ และไม่เพียงแต่จะคงอยู่นานมาก ราว  3 วินาที แต่ยังมีคลื่นระยะสัญญาณที่เที่ยงตรงอย่างน่าอัศจรรย์ โดยเกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที เหมือนกับการเต้นของหัวใจ นี่เป็นครั้งแรกที่มีสัญญาณที่เกิดขึ้นเป็นระยะ”


ปัจจุบัน ทีมวิจัยกำลังค้นคว้าว่า ใคร หรืออะไร สร้างสัญญาณนี้ขึ้นมา และล่าสุดพวกเขาเผยว่า ตัวการที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ดาวนิวตรอน โดยการวิเคราะห์รูปแบบของคลื่นสัญญาณ แสดงให้เห็นว่ามันมาจากดาวพัลซาร์ (Pulsar) ซึ่งเป็นประเภทของดาวนิวตรอนที่ปล่อยลำแสงคลื่นวิทยุออกจากขั้วของมัน หรือแมกนีทาร์  (Magnetar) ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กแรงสูง อย่างไรก็ตาม FRB 20191221A นั้นแผ่สัญญาณได้รุนแรงยิ่งกว่าการแผ่รังสีครั้งไหน ๆ ที่เคยพบ โดยมันแผ่สัญญาณได้รุนแรงกว่าหนึ่งล้านเท่าของดาวพัลซาร์ และแมกนีตาร์ในกาแล็กซี่ทางช้างเผือก  


นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าสัญญาณที่เกิดขึ้น อาจมาจากดาวพัลซาร์หรือแมกนีตาร์ที่ตามปกติ สัญญาณนี้จะค่อนข้างอ่อนแรง แต่มีการระเบิดขึ้นตรงกับทิศทางของโลกพอดี จึงมีการตรวจจับสัญญาณที่เข้มข้นอย่างมากได้


ดานิเอเล มิชิลลี หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน CHIME ตรวจพบ FRB จำนวนมากที่มีคุณสมบัติต่างกัน พวกเขายังเคยเห็นสัญญาณที่เกิดในกลุ่มก้อนอนุภาคเมฆฝุ่นที่มีความแปรปรวนสูง และบางครั้ง สัญญาณเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดโปร่ง และสำหรับคุณสมบัติของสัญญาณใหม่นี้ สามารถระบุได้ว่ารอบ ๆ แหล่งที่มาของสัญญาณนี้มีเมฆพลาสมาที่แปรปรวนอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ทีมวิจัยวางแผนที่จะจับตาดูการระเบิดสัญญาณครั้งต่อไป ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาที่มาของคลื่นวิทยุดังกล่าวได้


งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature


ที่มาของข้อมูล news.mit.edu

ที่มาของรูปภาพ MIT



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง