รีเซต

ภาษาช้าง ? การศึกษาใหม่เผย ช้างมี "ชื่อเรียก" ไว้สื่อสารกัน

ภาษาช้าง ? การศึกษาใหม่เผย ช้างมี "ชื่อเรียก" ไว้สื่อสารกัน
TNN ช่อง16
2 กรกฎาคม 2567 ( 15:16 )
41

ผลการศึกษาใหม่เปิดเผยความลับของช้างว่า ช้างสามารถสื่อสารกันได้ด้วยการ “เรียกชื่อ” รวมถึงมีการรับรู้และตอบสนองต่อเสียงเรียกนั้น ในลักษณะคล้าย ๆ กับที่มนุษย์สื่อสารกันเลย 


พฤติกรรมของช้างดังกล่าวนี้รายงานโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยรัฐโคโลราโด (CSU) ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ช้างที่ชื่อว่าเซฟดิเอเลเฟ่นท์ (Save the Elephants) และเอเลเฟนท์วอยซ์ (ElephantVoices) โดยชื่อเรียกของช้าง จะออกมาในลักษณะเสียงที่มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่เสียงดังเหมือนแตร หรือเสียงต่ำ ๆ ซึ่งบางความถี่ หูของมนุษย์ก็ไม่สามารถได้ยินได้


นักวิจัยได้พัฒนาเทคนิคการประมวลผลสัญญาณเสียงเพื่อตรวจจับความแตกต่างของเสียงเวลาที่ช้างเรียกกัน จากนั้นได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อให้สามารถระบุเสียงเรียกเฉพาะเจาะจงของช้างได้ แล้วนำไปวิเคราะห์เสียงของช้างแอฟริกา 2 โขลง ในเขตสงวนแห่งชาติซัมบูรู และอุทยานแห่งชาติอัมโบเซลี ในทุ่งสะวันนา ประเทศเคนยา ซึ่งนักวิจัยได้บันทึกและรวบรวมเสียงของช้างมาตั้งแต่ปี 1986 - 2022 หรือก็คือเป็นเวลากว่า 36 ปี จนผลลัพธ์พบว่าสามารถแยกความแตกต่างของเสียงสื่อสารของช้างได้ถึง 469 เสียง เป็นเสียงเรียก 101 เสียง และเป็นเสียงตอบรับอีก 117 เสียง


นักวิจัยได้ทดลองเปิดเสียงเรียกชื่อที่บันทึกไว้ แล้วก็พบว่าช้างเจ้าของชื่อมีการตอบสนองเชิงบวก แล้วก็กระตือรือร้นต่อเสียงนั้น แต่หากเปิดเสียงที่อาจจะเป็นชื่อเรียกของตัวอื่น มันก็จะเมินเฉยเสียงนั้น นั่นแปลว่าไม่เพียงแต่มันเรียกกันได้ แต่ก็สามารถส่งเสียงตอบรับ เป็นการสื่อสาร 2 ทางเลยทีเดียว


นักวิจัยพบว่า การเรียกชื่อนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไปเหมือนมนุษย์สื่อสารกัน แต่จะเรียกเมื่อช้างอยู่ไกลกัน โดยพบว่าเสียงเรียกชื่อนี้สามารถส่งไปได้ไกลประมาณ 2 กิโลเมตร และส่วนใหญ่ก็จะเป็นช้างผู้ใหญ่เรียกช้างเด็ก นอกจากนี้นักวิจัยยังพบอีกว่า ปกติการเรียกชื่อจะเกิดจากช้างผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงช้างอาจจะใช้เวลาหลายปีเพื่อเรียนรู้วิธีการเรียกชื่อแบบนี้


การค้นพบนี้ ทำให้ นอกจากมนุษย์แล้ว ช้างถือเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกเลยที่มีชื่อเรียกกัน แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการรายงานว่าโลมา และนกแก้ว มีการเรียกชื่อเหมือนกัน แต่เป็นในลักษณะของการเลียนแบบเสียง


ทั้งนี้แม้ว่ามนุษย์และช้างจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ทั้ง 2 เผ่าพันธุ์ก็มีความคล้ายคลึงกันบางประการ คือ อาศัยอยู่ในเครือข่ายสังคมที่ซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์ ความซับซ้อนนี้น่าจะผลักดันให้เกิดความจำเป็นในการตั้งชื่อช้างตัวอื่น


นักวิจัยเผยว่า จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อศึกษาว่า ช้างมีภาษาที่เอาไว้เรียนสิ่งอื่น ๆ เช่น อาหาร น้ำ และสถานที่หรือไม่ 


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Ecology & Evolution ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน 2024 




ที่มาข้อมูล Theguardian, Nature, NEWS.Sky, NewAtlas

ที่มารูปภาพ CSW

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง