รีเซต

‘จุรินทร์’ปลื้มส่งออกโตต่อเนื่องพยุงเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด 7 เดือนทะลุเป้าปลายปีมั่นใจเป็นบวก

‘จุรินทร์’ปลื้มส่งออกโตต่อเนื่องพยุงเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด 7 เดือนทะลุเป้าปลายปีมั่นใจเป็นบวก
ข่าวสด
22 กันยายน 2564 ( 15:10 )
29
‘จุรินทร์’ปลื้มส่งออกโตต่อเนื่องพยุงเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด 7 เดือนทะลุเป้าปลายปีมั่นใจเป็นบวก

‘จุรินทร์’ปลื้มส่งออกโต - เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 22 ก.ย. หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน หัวข้อ “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” โดยมี นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด”

 

 

 

 

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกยังเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพราะมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวมการส่งออกในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2564) มีการเติบโตมูลค่ากว่า 1.54 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.20% หรือเติบโตกว่า 4 เท่า และในเดือนมิ.ย. การส่งออกทำนิวไฮในรอบ 11 ปี หรืออยู่ที่ 43.82% แม้ในตัวเลขการส่งออกในเดือนส.ค. จะมีแนวโน้มลดลงจากพิษการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าการส่งออกจนถึงปลายปีนี้ยังมีแนวโน้มเป็นบวก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยการสั่งกำชับให้ทูตพาณิชย์ในต่างประเทศทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนประสานกับพาณิชย์จังหวัดในการประสานหาตลาดเพื่อการส่งออกสินค้าไทย ขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศก็เดินหน้าจัดงานเพื่อโปรโมตสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

 

 

แต่ยอมรับว่ายังมีปัจจัยลบหลายปัจจัย เช่น ปัญหาหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งได้แก้ไขอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังติดขัดเพราะปัญหาเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ทำให้ยังมีปัญหาการขาดแคลนยังมีอยู่เป็นช่วงๆ รวมทั้งปัญหาขาดแคลนกระป๋องเพราะเหล็กในตลาดโลกราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาจนคลี่คลายไปได้ และยังจะมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยบวกคือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและการฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

 

 

“กระทรวงพาณิชย์หรือภาคราชการ ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน กฎอะไรที่เป็นอุปสรรคก็ต้องแก้ไข ภาครัฐต้องไม่เป็นตัวถ่วงเอกชน เพราะเอกชนมีความเชี่ยวชาญในการส่งออกมากกว่า ภาครัฐต้องไม่ขวางการรทำงานของเอกชน ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาไทยไม่ได้พึ่งพาเศรษฐกิจขาเดียว แต่พึ่งพา 2 ขา คือ ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก แม้ตอนที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยภาคการส่งออก และเมื่อภาคการท่องเที่ยวสามารถกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งเมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถเดินหน้าต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

 

 

ส่วนประเด็นที่สิ่งที่ต้องติดตาม คือ การกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีจะทวีความรุนแรงเข้มข้นและมีรายการเพิ่มขึ้น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีทั้งหมดนี้สร้างขึ้นมาจากประเทศพัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น เป็นที่มาของการตั้งกำแพงใหม่ที่มิใช่ภาษี แต่เป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง เช่น ด้านแรงงานสิทธิมนุษยชน ด้านสุขอนามัย ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และที่มาใหม่ต่อไปนี้สินค้าและประเทศไหนผลิตให้เกิดคาร์บอนโลกร้อนจะเก็บภาษีคาร์บอนโดย สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มแล้วภายใน 2 ปี จะเก็บภาษีคาร์บอนนำเข้าสินค้าไปยังอียูในสินค้า 5 รายการ 1. เหล็ก 2. อะลูมิเนียม 3. ซีเมนต์ 4. ไฟฟ้า 5. ปุ๋ย

 

 

 

รวมถึงการที่ สหรัฐกับอังกฤษและออสเตรเลีย จับมือกันตั้งไตรภาคีเพื่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก มีนัยยะสำคัญคือ สหรัฐ จะเข้าไปช่วยออสเตรเลียผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งออสเตรเลียสั่งซื้อจากฝรั่งเศสหลายหมื่นล้านดอลลาร์ กระทบฝรั่งเศส แต่ทันทีที่ประกาศไตรภาคี เรื่องนี้ประเทศจีนประกาศจะเข้าร่วม CPTPP ซึ่งต้องติดตาม โลกไม่ได้แบ่งค่ายเฉพาะทางการเมืองแล้ว แต่ยังเอาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศมามัดติดกับการเมืองและแบ่งค่ายกัน เป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยและภาคเอกชนต้องจับมือการติดตามวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด เพื่อทราบว่าเราจะต้องยืนอยู่ที่ไหน กำหนดท่าทีอย่างไร ตนได้เสนอครม. อย่างน้อยที่สุดไทยต้องจับมือกับอาเซียนให้ใกล้ชิดเพราะลำพังไทยตัวเล็กเกินไป อำนาจต่อรองก็จะเพิ่มขึ้น แต่อาเซียนด้วยกันก็ต้องแข่งกัน ฉะนั้นเราจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทยอย่างไร คือการบ้านข้อใหญ่ในภาวะการเมืองมัดติดกับเศรษฐกิจการค้าโลก

 

 

รวมถึงการที่ เอกชนกับรัฐบาลต้องศึกษาข้อตกลงกติกาการค้าโลกที่มีให้ใกล้ชิดลงลึก FTA Mini-FTA RCEP อาเซียนพลัสรวมถึงอื่นๆ เพื่อเตรียมการในการปรับตัวและแสวงหาแต้มต่อทางการค้า

 

 

“เรื่องจีนสนใจจะเข้าร่วม CPTPP ผมเชื่อว่าจะกระทบเรา เพราะถ้าจีนเป็นสมาชิก CPTPP ต้องปรับมาตรฐานทางด้านการผลิตการส่งออกหลายรายการเพื่อให้สอดคล้องกับกติกา จะกระทบไทยเพราะจีนเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยในวันนี้ เมื่อจีนปรับมาตรฐานการส่งออก สินค้าไปจีนต้องภายใต้มาตรฐานใหม่ เป็นสิ่งที่ กรอ.พาณิชย์ทั้งกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนต้องติดตาม”นายจุรินทร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง