รีเซต

มองหลากมุม CPTPP โอกาสหรือความท้าทาย

มองหลากมุม CPTPP โอกาสหรือความท้าทาย
มติชน
28 มิถุนายน 2564 ( 06:43 )
61

 

เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ครบกำหนด 50 วันที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้ขอขยายเวลาจากคณะรัฐมนตรี เพื่อทำการศึกษาในทุกแง่มุมว่า ไทยจะเข้าสู่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี-CPTPP) หรือไม่ไปแล้ว

 

 

ในช่วง 50 วันดังกล่าว กนศ.ได้มีการหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะทำงานแบบ “พลิกหินทุกก้อน” ตามนโยบายที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกนศ. ยืนยันไว้ และเมื่อไม่นานมานี้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ได้จัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับสื่อมวลชนในหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับซีพีทีพีพี

 

 

 

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสและข้อท้าทายของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี เพื่อประกอบการพิจารณาว่าไทยจะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงดังกล่าวหรือไม่ โดยเน้นรับฟังแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับทุกภาคส่วนในสังคม และอยากขอให้ใช้ “ความเป็นคนไทย” และ “หัวใจคนไทย” โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทยเป็นสำคัญ ทั้งควรต้องพิจารณาบริบทการแข่งขันทางการค้าในโลกและในภูมิภาคด้วย

 

 

 

ในฐานะอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม อธิบดีธานีได้ยกตัวอย่างเวียดนามที่ปัจจุบันมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ครอบคลุมถึง 53 ประเทศทั่วโลก ซึ่งช่วยดึงดูดการค้าการลงทุนมายังเวียดนามอย่างมหาศาล และเวียดนามยังเตรียมเจรจาเอฟทีเอเพิ่มขึ้นอีก ภายใต้ความมุ่งมั่นตั้งใจของเวียดนามที่จะมองไปข้างหน้า

 

 

 

นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยอาจเสียโอกาสหากไม่เริ่มเข้ากระบวนการเจรจาเข้าร่วมซีพีทีพีพี โดยเฉพาะการหลุดจากห่วงโซ่มูลค่าโลกและการเสียโอกาสปรับปรุงกฎระเบียบการค้าของไทย ให้ก้าวทันมาตรฐานโลกยุคใหม่ ขณะนี้ความตกลงทางการค้าอื่นๆ ที่ไทยกำลังจะเจรจาเป็นความตกลงสมัยใหม่ที่ทำให้ไทยต้องปรับปรุงกฎหมายภายในของเราในลักษณะที่คล้ายกับซีพีทีพีพีเช่นกัน อาทิ เอฟทีเอไทย–อียู

 

 

อธิบดีเชิดชายยืนยันว่า การเริ่มต้นกระบวนการเจรจาขอเข้าร่วมซีพีทีพีพีไม่ได้หมายความว่าไทยจะต้องเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี และยังมีหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการซึ่งต้องใช้เวลาร่วมปี แต่ขณะนี้ไทยยังไม่ได้เริ่มแม้แต่ขั้นตอนแรก ปัจจุบันอังกฤษเริ่มไปแล้ว หากไทยตัดสินใจล่าช้า การเจรจาจะยากขึ้นตามลำดับ เพราะจะต้องเจรจากับประเทศสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีนก็แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมซีพีทีพีพีแล้วเช่นกัน ดังนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ไทยควรเริ่มเจรจาโดยเร็ว

 

 

เมื่อถูกถามว่าอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทยควรเจรจาเพื่อเข้าร่วมซีพีทีพีพี อธิบดีเชิดชายกล่าวว่ามี 4 ประการหลัก ประกอบด้วย การที่ภาครัฐมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจ การเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ การมีกรอบเจรจาที่เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และความพร้อมในการเยียวยารองรับผู้ได้รับผลกระทบ

 

 

ด้านผู้แทนกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พูดถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับหากเข้าร่วมซีพีที่พีพีว่า จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้าและดึงดูดการลงทุน และขยายการค้าไทยไปยังประเทศสมาชิก ยกระดับมาตรฐานด้านกฎระเบียบการค้าการลงทุนของไทย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ทั้งนี้ซีพีทีพีพีมีประชากร 502 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก ร้อยละ 12.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โลก ร้อยละ 28.6 ของการค้าระหว่างประเทศของไทย และร้อยละ 29.4 ของการส่งออกของไทย หากไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพี จีดีพีของไทยจะเติบโตสูงขึ้นเกือบร้อยละ 1 การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 และการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4-4.6 หากไทยไม่เข้าร่วมจีดีพีของเราจะเติบโตลดลง ร้อยละ 0.25-1 การลงทุนต่ำลงร้อยละ 0.5-2 และการส่งออกต่ำลงร้อยละ 0.75

 

 

 

 

หลังจากไทยได้จัดทำเอฟทีเอกับออสเตรเลียในปี 2548 ก็ว่างเว้นจากการมีความตกลงใหม่มาเกือบ 20 ปี โดยระหว่างนั้น ไทยเคยเจรจาเอฟทีเอไทย – สหรัฐฯ และเอฟทีเอไทย – อียู แต่ต้องชะงักงันเนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป-RCEP)

 

 

สำหรับประเด็นที่หลายภาคส่วนยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการเข้าร่วมซีพีทีพีพีของไทย อาทิ การที่เกษตรกรไทยจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้สำหรับการเพาะปลูกในครั้งต่อไปได้ หรือการที่เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้นจากการที่ต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) น.ส.ธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ชี้ว่า หากไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีก็จะมีทั้งผู้ที่จะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยผู้ได้ประโยชน์คือภาคเอกชนไทยผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีศักยภาพเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และไทยส่งออก เมล็ดพันธุ์เป็น 5 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่ผู้เสียประโยชน์คือเกษตรรายย่อยเนื่องจาก UPOV 1991 ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาพันธุ์พืชในระดับที่สูงและยาวนานกว่ากฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปัจจุบันของไทย จึงอาจเป็นการจำกัดสิทธิของเกษตรกร

 

 

 

อย่างไรก็ดีมีแนวทางการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ คือภาครัฐจะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชที่ดีและเป็นที่ต้องการของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ในราคาถูกจากภาครัฐ โดยไม่ต้องพึ่งเอกชน และออกกฎหมายภายในเพิ่มเติมเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่บางประเภทไว้ปลูกต่อในฤดูกาลถัดไปได้

 

 

ในประเด็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (ซีแอล) และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่เป็นที่น่ากังวลเนื่องจาก ในประเด็นซีแอล ซีพีทีพีพีระบุไว้ชัดเจนว่าภาคีสามารถประกาศใช้ซีแอลได้ตามความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) เช่นเดิม ขณะที่การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ประทเศสมาชิกสามารถขอผ่อนผัน ยกเว้น หรือกำหนดเงื่อนไขการบังคับใช้ข้อกำหนดบางเรื่องของข้อตกลงที่ยังไม่มีความพร้อม หรือภาครัฐต้องการสงวนเพื่อผลประโยชน์ภายในประเทศได้ ไทยก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ดังเช่นที่เวียดนามก็ได้ดำเนินการในหลายเรื่อง ขณะที่ประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้วก็ยังมีข้อสงวนในบางประเด็นในซีพีทีพีพีเช่นกัน

 

 

 

เมื่อถูกถามถึงแผนการเตรียมความพร้อมสำหรับการเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบของภาครัฐ ผู้แทนกรมเจรจาระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่า รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาไว้และจะเป็นไปตามรอบพิจารณาปีงบประมาณ จึงมีแนวคิดที่จะปรับเป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น ขณะที่อธิบดีเชิดชายเห็นว่า นอกจากการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบซึ่งในชั้นนี้อาจยังไม่ชัดเจนว่ามีกลุ่มใดบ้าง ควรเน้นการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบไว้ล่วงหน้าคู่ขนานกันไปด้วย

 

 

 

ที่สุดแล้วประเด็นที่เราควรต้องนำมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพีของไทยคือเราต้องไม่ปล่อยให้ความหวาดกลัวครอบงำชีวิต แต่ต้องมองข้อเท็จจริงในทุกแง่มุม ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือเราต้องตระหนักว่า หากไทยไม่ปรับตัวให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที เราก็มีแต่จะถูกทิ้งและถูกหลงลืมบนโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความท้าทายมากมายเช่นที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง