รีเซต

ความโหดร้ายของปี 1968: ปีศาจที่ยังตามหลอกหลอนผู้หญิงเวียดนามหลายร้อยคน

ความโหดร้ายของปี 1968: ปีศาจที่ยังตามหลอกหลอนผู้หญิงเวียดนามหลายร้อยคน
บีบีซี ไทย
6 เมษายน 2563 ( 08:32 )
746
ความโหดร้ายของปี 1968: ปีศาจที่ยังตามหลอกหลอนผู้หญิงเวียดนามหลายร้อยคน

ชายคนนั้นเข้ามาซื้อซอสถั่วเหลืองที่ร้านของจัน ทิ ไหง หญิงสาวชาวเวียดนามใต้ ปกติแล้วเธอทำงานเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์ แต่เช้าวันนั้นเธอมาช่วยพ่อแม่เฝ้าร้านขายของชำของครอบครัวชั่วคราว ระหว่างที่พวกเขาไม่อยู่

ชายคนนั้นเป็นทหารชาวเกาหลีใต้ เขามีระเบิดมือห้อยอยู่ที่ชุดเกราะและมีปืนพกที่เข็มขัด ตอนนั้นเป็นช่วงฤดูร้อนของปี 1967 ที่สงครามเวียดนามกำลังยกระดับทวีความรุนแรงขึ้น โดยกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรกำลังปะทะกับเวียดกง หรือกองกำลังคอมมิวนิสต์จากเวียดนามเหนืออย่างดุเดือด

เมื่อทหารเกาหลีใต้คนนั้นยื่นเงินค่าซอสถั่วเหลืองให้และหญิงสาวยื่นมือไปรับ เขากลับคว้าแขนและจิกกระชากผมของเธอ ลากตัวเธอเข้าไปข้างหลังร้าน ก่อนจะลงมือข่มขืนอย่างทารุณ

จันย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า "ฉันรู้สึกเหมือนชีวิตจบสิ้นแล้ว" สิ่งเดียวที่เธอทำได้เพื่อลืมเรื่องเลวร้าย ก็คือการทุ่มเทพลังกายใจทำงานให้หนักยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

เมื่อจันพบว่าหน้าท้องของเธอบวมโตขึ้น เธอคิดว่าอาจเป็นแค่เพราะตัวเองเริ่มอ้วนกว่าเดิม จนกระทั่งวันหนึ่งเธอรู้สึกถึงแรงดิ้นถีบของทารกในครรภ์ จึงได้รู้ตัวว่าตั้งท้องอย่างแน่นอนแล้ว

พ่อแม่ของจันรับไม่ได้ที่ลูกสาวมีครรภ์ทั้งที่ยังไม่ได้สมรส เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างร้ายแรงสำหรับสังคมที่หลักศีลธรรมของลัทธิขงจื๊อยังมีอิทธิพลอย่างสูง ในยุคนั้นผู้หญิงถูกคาดหวังให้รักษาความบริสุทธิ์ไว้จนถึงวันแต่งงาน

"พ่อแม่ด่าว่าฉันเป็นพวกท้องก่อนแต่ง ซ้ำยังตบตีฉันอย่างหนัก" จันเล่า "ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป รู้สึกเหมือนข้างในของตัวเองได้ตายไปแล้ว ฉันพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าลูกในท้องกลับดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ฉันอยู่ต่อไป"

พ่อแม่ของจันหยุดตบตีลงโทษเธอ เมื่อเธอคลอดลูกในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 1968 จันดีใจมากที่ลูกสาวเกิดมาหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่ความปลื้มปีติยินดีนั้นอยู่ได้เพียงชั่วครู่ ก่อนที่ความห่วงกังวลสารพัดจะเข้ามาแทนที่ "ฉันกลุ้มใจมากว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบโตได้อย่างไร จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย จะกลับไปทำงานอย่างเดิมเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและลูกได้เมื่อไหร่"

จันตั้งชื่อลูกสาวว่า "อ๋วนห์" แต่ก็ไม่ลืมที่จะให้ชื่อกลางของลูกแสดงถึงชาติกำเนิดที่มาจากแดนไกลด้วย ชื่อกลางของทารกน้อยจึงเป็น "คิม" ตามชื่อสกุลของทหารเกาหลีใต้ที่ข่มขืนเธอ

BBC

หลังคลอดลูกได้ไม่นาน ทหารคนนั้นได้กลับมาหาจันอีกครั้ง เขายืนมองเธออยู่ครู่หนึ่งโดยไม่พูดอะไรสักคำ ก่อนจะเดินจากไปดื้อ ๆ สองสามวันต่อมาเขาส่งเพื่อนทหารอีกคนหนึ่งมารับจันกับลูกไปอยู่ด้วยกันในฐานที่มั่น ซึ่งก็คือค่ายของ "กองพลม้าขาวเกาหลี" สังกัดกรมทหารที่ 28 แห่งเวียดนามใต้ ฐานที่มั่นนี้ตั้งอยู่ในเขตภูเขาที่ห่างไกล ทางตอนใต้ของเมืองฝูเหียบที่เป็นบ้านเกิดของจัน

ความอ้างว้างโดดเดี่ยวและความรู้สึกอับอายต่อสังคม ทำให้เธอไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยอมตามไปอยู่กินกับอาชญากรที่ข่มขืนเธอเป็นเวลานานถึง 2 ปี ทั้งยังมีลูกสาวกับเขาเพิ่มมาอีกคนหนึ่ง

"ฉันกลัวและระแวงพ่อของลูกตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน กลัวว่าตัวเองและลูกจะตกอยู่ในอันตราย ไม่มีความรักอยู่ที่นั่น มีเพียงการบังคับข่มขืนใจเท่านั้น เขาทิ้งพวกเราไปเมื่อต้องย้ายไปประจำการในฐานที่มั่นแห่งใหม่"

จันกลับไปอยู่กับพ่อแม่ที่เมืองฝูเหียบ พยายามทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงลูก ๆ จนกระทั่งทหารเกาหลีใต้อีกผู้หนึ่งปรากฏตัวขึ้นในชีวิตของเธอ เขาบอกว่าชื่อ "พัก" เป็นเพื่อนทหารที่คิมส่งมาดูแลเธอกับลูก

"ดูเหมือนว่าเขาพยายามจะช่วยฉันเลี้ยงลูกจริง ๆ เขาอุ้มเด็ก ๆ ไว้ในอ้อมแขน ป้อนอาหารและเฝ้าดูแลให้ตอนที่ฉันไปทำงานข้างนอก" แต่วันหนึ่งพักก็จู่โจมข่มขืนเธอจนได้ คราวนี้จันตั้งท้องอีกและคลอดออกมาเป็นลูกชาย

ครอบครัวของจันมาถึงจุดที่หน้าตาและฐานะทางสังคมเสียหายอย่างหนัก โดยไม่สามารถจะทำให้ฟื้นคืนมาได้อีกแล้ว การอยู่ในหมู่บ้านเดิมเป็นเรื่องที่ต้องลำบากใจมากขึ้นทุกที เพราะชาวบ้านพากันเมินหน้าไม่คบหาเธอ ซ้ำยังด่าทอว่า "มีผัวเกาหลี" กล่าวหาว่าจันชักนำให้ทหารเกาหลีใต้มาฆ่าคนเวียดนามถึงในหมู่บ้าน

หลังจากนั้นจันและพ่อแม่ต้องย้ายไปอยู่อีกอำเภอหนึ่ง แต่เรื่องราวฉาวโฉ่ของเธอก็ยังคงติดตามไปถึงที่นั่น "ถ้าฉันแนะนำตัวเองว่าชื่อจัน ทิ ไหง ผู้คนก็จะพูดกันว่า อ๋อ คนนี้เองนางสาวไหงคนสวย แต่เธอไม่มีสามีนี่นา"

บางคนถามเธอว่าเหตุใดจึงไม่ทำแท้งเด็กที่เกิดจากการข่มขืนไปเสีย จันตอบทั้งน้ำตาว่า "ฉันเป็นพยาบาลผดุงครรภ์ งานของฉันคือการช่วยผู้หญิงให้กำเนิดลูก ฉันยังดูแลและอุ้มกอดทารกด้วยตัวเอง อาบน้ำทำความสะอาดให้ ตัดสายสะดือให้ แล้วฉันจะคิดฆ่าลูกของฉันเองได้อย่างไร"

ชีวิตที่แหลกสลาย

ในเดือนเดียวกับที่จันคลอดลูกคนแรก เด็กหญิงเหวียน ทิ ทันห์ วัย 11 ปี ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาลเช่นกัน

เช้าของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1968 เหวียนได้ยินเสียงกรีดร้องมาจากด้านไกลของหมู่บ้านฮาหมีที่เธออาศัยอยู่ ทั้งยังมองเห็นควันดำพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า เธอตัดสินใจวิ่งออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พบเข้ากับทหารเกาหลีใต้ที่จ่อปืนเล็งตรงมายังตัวเธอ เหวียนรีบวิ่งกลับไปบอกแม่ว่าหมู่บ้านถูกปิดล้อมแล้ว

BBC

"พอฉันพูดจบ พวกทหารเกาหลีใต้ก็กรูกันเข้ามาในบ้านทันที สั่งให้พวกเราทั้งครอบครัวและทุกคนซึ่งอยู่ที่นั่นลงไปในหลุมหลบภัยหน้าบ้าน แล้วก็โยนระเบิดตามลงไป"

แม่และน้องชายของเหวียน รวมทั้งน้าและลูกทารกของเธอเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในหลุมหลบภัยแห่งนั้นมีเพียงเหวียนและลูกพี่ลูกน้องอีกผู้หนึ่งที่รอดมาได้

ในวันนั้นชาวหมู่บ้านฮาหมีถูกสังหารไปถึง 135 คน บ้านเรือนของพวกเขาถูกเผาทำลายจนราบคาบ ด้วยฝีมือของ "กองพลมังกรน้ำเงิน" ซึ่งเป็นกองกำลังนาวิกโยธินที่มีชื่อเสียงของเกาหลีใต้

ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยมาค้นหาเวียดกงที่หลบซ่อนตัวในหมู่บ้านของเหวียนแล้วหลายครั้ง แต่สิ่งที่เธอไม่เข้าใจก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงซึ่งทำให้ทหารเกาหลีใต้ลงมือใช้ความรุนแรงถึงขั้นสุดในวันนั้น "พวกเขาฆ่ากระทั่งเด็กอายุ 3-4 เดือน" เหวียนเล่า

BBC
เหวียน ทิ ทันห์ ผู้รอดชีวิตจากเหตุสังหารหมู่ที่หมู่บ้านฮาหมี

เมื่อมองย้อนกลับไปในบันทึกประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาที่หมู่บ้านของเหวียนถูกโจมตี ถือว่าตรงกับช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ในสงครามเวียดนามเลยทีเดียว โดยเมื่อปลายเดือนมกราคมของปี 1968 ฝ่ายเวียดนามเหนือและกองกำลังเวียดกงได้เปิดฉากรุกโจมตีครั้งใหญ่ในเทศกาลตรุษขึ้นปีใหม่หรือ "เต๊ต" (Tet Offensive) การโจมตีนองเลือดในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายเวียดนามใต้รวมทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรโลกเสรีตอบโต้อย่างรุนแรงเช่นกัน จนเกิดโศกนาฏกรรมสุดรันทดเช่นการสังหารหมู่และรุมข่มขืนที่หมู่บ้านหมีไหล่โดยทหารอเมริกัน ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมของปีนั้น

ตลอดเวลา 20 ปีของสงครามเวียดนาม กองกำลังสหรัฐฯ ได้ก่ออาชญากรรมกับพลเรือนชาวเวียดนามหลายต่อหลายครั้ง แม้จะไม่มีคำขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้แสดงการยอมรับผิดและชดใช้ความเสียหายด้วยการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งตั้งศาลไต่สวนคดีอาชญากรรมสงครามในยุคนั้น

แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งปัจจุบันมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับเวียดนาม กลับไม่ต้องการจะเอ่ยถึงหรือทบทวนบทบาทของตนเองในสงครามเวียดนามนัก แม้ในอดีตจะได้ส่งทหารราว 320,000 นายไปร่วมรบกับสหรัฐฯด้วย เนื่องจากมีความกลัวต่อการแผ่อิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ส่งหนังสือแจ้งให้เหวียนและผู้รอดชีวิตจากสงครามเวียดนามอีก 102 คนทราบว่า ไม่พบบันทึกหลักฐานถึงการสังหารหมู่พลเรือนด้วยฝีมือของทหารเกาหลีใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศยังจะต้องดำเนินการสืบสวนร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถจะเริ่มลงมือทำการสืบสวนดังที่ว่าได้

BBC
ทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้ชุมนุมประท้วง อ้างว่ามีการใส่ร้ายป้ายสีเรื่องพวกเขาก่ออาชญากรรมในสงครามเวียดนาม

ค้นหาความจริงจากอดีต

คู ซู จอง นักวิจัยชาวเกาหลีใต้เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ภารกิจดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ขณะที่เธอยังศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์เวียดนามอยู่

ตอนนั้นคูได้รับเอกสารฉบับคัดลอกอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามผู้หนึ่ง โดยเอกสารนั้นบรรยายถึงความทารุณโหดร้ายที่กองกำลังเกาหลีใต้กระทำต่อพลเรือนในช่วงสงครามเวียดนามไว้อย่างชัดเจน

หลังจากใช้เวลากว่า 20 ปี ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วเวียดนามเพื่อพูดคุยกับบรรดาผู้รอดชีวิต คูสันนิษฐานว่ามีชาวเวียดนามใต้ราว 9,000 คน ถูกทหารเกาหลีใต้ปลิดชีพในการสังหารหมู่ประมาณ 80 ครั้ง

เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลข้างต้นลงหนังสือพิมพ์ของเกาหลีใต้ในปี 1999 ทหารผ่านศึกวัย 50-60 ปีกว่าสองพันคนในชุดเครื่องแบบ พากันออกมารวมตัวประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว บางส่วนพากันไปทุบทำลายและขว้างปาบ้านพักของคู จนเธอและแม่ต้องย้ายไปหลบในอพาร์ตเมนต์ที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดชั่วคราว

ดูเหมือนว่าสังคมเกาหลีใต้จะไม่มีทางพิสูจน์หรือหาคำตอบได้ว่า ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามซึ่งเกิดขึ้นกับครอบครัวของเหวียน แต่อย่างไรก็ตาม ทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้ผู้หนึ่งที่ชื่อว่า ริว จิน ซุง ได้ออกมายอมรับว่า กองพลที่เขาเคยสังกัดอยู่นั้นเป็นผู้ก่อเหตุสังหารชาวบ้านจำนวนมากที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก่อนจะเกิดเหตุสังหารหมู่ที่บ้านเกิดของเหวียนเพียงสองสัปดาห์

กองร้อยของริวถูกซุ่มยิงขณะกำลังออกลาดตระเวน โดยวิถีกระสุนมาจากทิศที่ตั้งของหมู่บ้านฟองญีและฟองญัต ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านฮาหมีของเหวียนเท่าใดนัก พวกเขาโจมตีตอบโต้โดยแบ่งกำลังเป็นสามหน่วย เข้าโอบล้อมหมู่บ้านทั้งสองแห่งไว้จากสามด้าน

BBC
ริว จิน ซุง ทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้ยอมรับว่า กองร้อยที่เขาเคยสังกัดอยู่ก่อเหตุสังหารพลเรือนในสงครามเวียดนาม

หน่วยของริวได้ถอนกำลังออกไปก่อนการโจมตีตอบโต้จะสิ้นสุดลง หลังจากเพื่อนทหารของเขายิงชายชราที่ไม่มีอาวุธผู้หนึ่งเสียชีวิต เย็นวันนั้นเขายังได้ยินสหายร่วมรบจากหน่วยอื่นคุยโอ้อวดว่าได้สังหารเด็กและผู้หญิง

วันรุ่งขึ้นริวเห็นศพพลเรือนจำนวนมากถูกนำออกมาวางเรียงรายที่ข้างถนน "ที่นั่นมีคนเวียดนามมารวมตัวกันแน่นขนัด พวกเขาร้องตะโกนด่าทอและจ้องเราเขม็งเหมือนกับจะฆ่ากัน ผมต้องใช้ลำกล้องปืนไรเฟิลแหวกทางฝ่าฝูงชนกลุ่มนั้นไป"

"ผมเห็นศพ ผมเห็นครอบครัวที่โกรธเกรี้ยวและโศกเศร้า จนถึงทุกวันนี้ผมยังจำได้ติดตา ใครที่ปฏิเสธว่าไม่มีเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านฟองญีและฟองญัต ถ้าไม่รับฟังข้อมูลมาผิดก็เป็นพวกที่ไม่อยากจะยอมรับความจริง"

ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้จัดเตรียมการให้ริวและเหวียนได้พบกันที่กรุงโซลของเกาหลีใต้ พวกเขามาเจอกันที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง โดยริวได้กล่าวคำว่า "ผมขอโทษ" เป็นภาษาเวียดนามกับเธอ

BBC
บีบีซีเป็นผู้จัดเตรียมการให้ริว จิน ซุง และเหวียน ทิ ทันห์ ได้พบหน้าและพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเหตุการณ์ในอดีต

เหวียนที่ปัจจุบันมีอายุ 63 ปีแล้วพยักหน้ารับน้อย ๆ ริวตักอาหารให้เธอ ทำให้เหวียนยิ้มตอบน้ำใจไมตรี ก่อนที่พวกเขาจะรับประทานอาหารกันต่อไป

หลังออกจากภัตตาคาร เหวียนได้กล่าวขึ้นว่า "ฉันรู้สึกเหมือนภาระที่หนักอึ้งถูกยกออกจากอก แต่ก็ยังคงหวังว่าสักวันจะได้รับคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเกาหลีใต้"

ถึงกระนั้นก็ตาม ทางการเกาหลีใต้ได้มีหนังสือชี้แจงกับบีบีซีในเรื่องดังกล่าวว่า "นับตั้งแต่สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1992 เป็นต้นมา เราต่างดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องร่วมกัน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีแบบมุ่งสู่อนาคต โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะทิ้งอดีตอันขมขื่นไว้ข้างหลังแล้วมุ่งก้าวเดินไปข้างหน้า"

ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงหรือแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ต่างก็เข้ามาสร้างโรงงานผลิตสินค้า ทั้งนำเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ประเทศเวียดนาม

โค คยอง แท นักหนังสือพิมพ์ชาวเกาหลีใต้ที่เผยแพร่งานวิจัยของคูเป็นคนแรก บอกว่าเรื่องที่ทหารเกาหลีใต้ก่ออาชญากรรมสงครามในเวียดนามนั้น ขัดแย้งกับความรู้สึกของคนเกาหลีใต้ที่มักจะมองว่าตนเป็นเหยื่อผู้ถูกรังแกตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์

"ชนชาติของเรามีความเป็นมาที่ยาวนานถึงห้าพันปี ซึ่งส่วนใหญ่เราต้องตกเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด เราตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น จีน มองโกเลีย แต่เราก็สู้ทนและฝ่าฟันผ่านมาได้ คนเกาหลีใต้รู้สึกภาคภูมิใจกับจิตสำนึกชาตินิยมในรูปแบบนี้"

Getty Images

เกาหลีใต้เองก็ใช้เวลาหลายสิบปี พยายามเรียกร้องให้ญี่ปุ่นขออภัยต่อการบังคับขืนใจหญิงชาวเกาหลีหลายแสนคนให้เป็นทาสบำเรอกามเหล่าทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งท่าทีดังกล่าวย้อนแย้งกับบทบาทของตนเองในสงครามเวียดนามอย่างยิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เหวียนกล่าวโทษรัฐบาลเวียดนามมากกว่า ที่ไม่กล้าลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพราะกลัวจะเสียความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้ไป

BBC

ทุกวันนี้เหยื่อสงครามเวียดนามที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังคงต้องเผชิญกับปีศาจจากอดีตอันเลวร้ายที่ตามมาหลอกหลอนอย่างไม่สิ้นสุด จัน ทิ ไหง ซึ่งมีอายุมากถึง 79 ปีแล้วบอกว่า ลูก ๆ ของเธอถูกกลั่นแกล้งรังแกและถูกกีดกันจากสังคมมาโดยตลอด พวกเขามักถูกล้อว่าเป็น "ไหล ได๋ ฮาน" หรือ "ลูกครึ่งเกาหลี"

พ่อของจันถูกทรมานและทุบตีจนตายขณะถูกคุมขังในบ้านเมื่อปี 1977 ด้วยความผิดฐานปล่อยให้ลูกสาวมีสัมพันธ์กับทหารเกาหลีใต้ จันเองก็ถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังในเรือนจำหลายครั้งในช่วงปี 1975-1978

จัน วัน ตี่ ลูกชายของเธอได้กลายมาเป็นนักรณรงค์ประจำกลุ่มเรียกร้องความยุติธรรมให้ลูกครึ่งเกาหลี (Justice for Lai Dai Han) โดยพวกเขาผลักดันให้มีการขอโทษเหยื่อทหารเกาหลีใต้ที่ถูกข่มขืนและตั้งครรภ์อย่างเป็นทางการ คาดว่าปัจจุบันมีลูกครึ่งที่เกิดมาจากกรณีข่มขืนเช่นนี้ราว 800 คนที่ยังมีชีวิตอยู่

นายแจ็ก สตรอว์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ทูตสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของกลุ่มรณรงค์ดังกล่าวบอกว่า "คำขอโทษอาจจะไม่ส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสมอไป ในบางครั้ง เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เราจะต้องจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตให้เรียบร้อยเสียก่อน"

"คำขอโทษอาจเป็นเพียงสิ่งที่ดูไม่มีราคาค่างวดอะไรนัก แต่มันมีความหมายอย่างยิ่งต่อพวกเรา" เหวียนกล่าวทิ้งท้าย

รายงานเพิ่มเติมจากกรุงโซลโดย ฮุง ยุน คิม บีบีซีแผนกภาษาเกาหลี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง