รีเซต

ถอดรหัสความอันตราย โควิดสายพันธุ์ "แลมบ์ดา" ร้ายแรงกว่า "เดลต้า" หรือไม่?

ถอดรหัสความอันตราย โควิดสายพันธุ์ "แลมบ์ดา" ร้ายแรงกว่า "เดลต้า" หรือไม่?
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2564 ( 08:21 )
331
ถอดรหัสความอันตราย โควิดสายพันธุ์ "แลมบ์ดา" ร้ายแรงกว่า "เดลต้า" หรือไม่?

วันนี้ (9 ก.ค.64) หลังจากมีการเผยแพร่ข้อมูลจากสื่อต่างประเทศระบุว่าพบการระบาดของโควิดกลายพันธ์ "สายพันธุ์แลมบ์ดา" ที่พบครั้งแรกในเปรูเมื่อปีที่แล้ว โดยพบระบาดแล้วกว่า30ประเทศ รวมทั้งอังกฤษที่ระบุว่าพบผู้ป่วยแล้ว 6 คน สร้างความกังวลว่าสายพันธุ์นี้มีความอันตรายมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย ซึ่ง นักวิจัยด้านไวรัสวิทยายืนยันว่ายังไม่มีข้อมูลใดบ่งชี้ว่าสายพันธุ์แลมบ์ดามีความน่ากังวลกว่า รวมทั้งเรื่องของการหลบหนีภูมิจากวัคซีน วันนี้เราจะไปทำความรู้จักโควิดสายพันธุ์นี้อีกครั้ง

 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว news.com.au ของออสเตรเลีย ระบุว่า อังกฤษพบไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา หรือ C.37 และมีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว 6 คน ทำให้บรรดานักวิจัยแสดงความกังวลว่าโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา อาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย และขณะนี้พบการระบาดแล้วกว่า 30 ประเทศ

 

 

 

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค จาก สวทช. ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งชี้ว่าโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา หรือ C.37 ซึ่ง พบครั้งแรกในเปรูเมื่อปีที่แล้ว แพร่กระจายได้เร็วกว่า หรือ รุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลต้า และไม่มีอะไรน่ากังวลเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะเรื่องการหลบหนีภูมิจากวัคซีน โดยงานวิจัยล่าสุดของเปรู หรือ ทีมวิจัยจากสหรัฐฯพบว่าโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาหนีภูมิจากวัคซีนได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า 

 

 

สำหรับโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา พบการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม รวมถึงตำแหน่ง G75V, T76I, del247/253, L452Q, F490S, D614G และ T859N ซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตำแหน่ง del247/253 เป็นตำแหน่งที่น่ากลัว ส่วนตำแหน่ง L452Q ไม่เคยเจอมาก่อน และ F490S เป็นตำแหน่งที่น่าสนใจ

 

 

รายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเปรู เป็นสายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งอัตราการเสียชีวิตสูง คิดเป็น 600 คนต่อประชากร 1 แสนคน เชื้อไวรัสพันธุ์นี้หลักๆ พบในทวีปอเมริกาใต้ อย่างในชิลีพบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้พบในอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เช่นเดียวกับเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา ที่กำลังมีการระบาดอย่างรวดเร็ว รวมถึงเอเชียก็มีประเทศออสเตรเลียที่ระบุว่า พบเชื้อแลมบ์ดาในประเทศแล้ว 

 

 

 

 

องค์การอนามัยโลก รายงานประจำสัปดาห์ ระบุว่าโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest) ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) เป็นสายพันธุ์ที่ต้องได้รับการเฝ้าระวังจากองค์การอนามัยโลก

 

 

โควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา อาจแพร่กระจายเชื้อง่ายกว่าตัวดั้งเดิม และเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดในหลายประเทศ หรือ ในทางทฤษฎี สามารถก่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือหลีกเลี่ยงแนวทางรักษาและวัคซีนต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

 

 

แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า แลมบ์ดา มีความร้ายแรงกว่าสายพันธุ์อื่น หรือสามารถต้านทานวัคซีนหรือวิธีการรักษาต่างๆ และการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า ไม่ได้หมายความว่าตัวกลายพันธุ์นั้น จะมีความอันตรายร้ายแรงกว่าตัวดั้งเดิม และแม้วัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ประมาณร้อยละ 64 แต่ยังคงมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 ในการป้องกันการติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล

 

 

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจสายพันธุ์แลมบ์ดาให้มากขึ้น

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง