รีเซต

ย้อนรอยอุบัติเหตุ 8 ครั้ง ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ

ย้อนรอยอุบัติเหตุ 8 ครั้ง ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2565 ( 11:58 )
148

ในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศนับจากช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบันมีนักบินอวกาศ 30 คน เสียชีวิตในขณะปฏิบัติภารกิจอวกาศ ทั้งในระหว่างการทดสอบบนโลกและการปฏิบัติภารกิจบนอวกาศเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับความเสี่ยงของภารกิจอวกาศ นักบินอวกาศทุกคนล้วนแล้วอุทิศตนด้วยความกล้าหาญในการปฏิบัติภารกิจอวกาศ


27 มกราคม 1967 อุบัติเหตุไฟไหม้ยาน Apollo 1 ไฟไหม้ห้องโดยสารยานบังคับ Apollo 1 ขณะทำการทดสอบฝึกซ้อมบริเวณฐานปล่อยจรวดที่เรียกว่าปลั๊ก-เอาท์ (Plug-out test) ไฟไหม้อย่างรวดเร็ว ทีมงานใช้เวลา 5 นาที จึงสามารถเปิดประตูยานเข้าไปช่วยแต่ก็สายเกินไป นักบินอวกาศทั้ง 3 คนเสียชีวิต นักบินอวกาศโรเจอร์ บี. แชฟฟี (Roger B. Chaffee) นักบินอวกาศเอ็ด ไวต์ (Edward White) และนักบินอวกาศกัส กริซซัม (Gus Grissom) 


24 เมษายน 1967 ภารกิจ Soyuz 1 นักบินอวกาศวลาดิเมีย คามารอฟ ของสหภาพโซเวียตประสบอุบัติเหตุ ยานโซยุซ 1 (Soyuz 1) เดินทางขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1967  เพื่อภารกิจเชื่อมต่อเข้ากับยานโซยุซ 2 (Soyuz 2) แต่ยานโซยุซ 2 ไม่ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศเนื่องจากติดปัญหาด้านสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการปล่อยจรวด ยานโซยุซ 1 เดินทางกลับโลกโดยไม่ได้ทำภารกิจเชื่อมต่อกับยานโซยุซ 2 บนอวกาศ ขณะยานโซยุซ 1 (Soyuz 1) เดินทางกลับโลก การกางร่มชูชีพล้มเหลว ทำให้ยานตกลงสู่พื้นโลกอย่างรุนแรง นักบินอวกาศวลาดิเมีย คามารอฟเสียชีวิตในภารกิจนี้  


11 เมษายน 1970 ยาน Apollo 13 เดินทางขึ้นจากโลกพร้อมนักบินอวกาศ 3 คน นักบินอวกาศ จิม โลเวลล์ (James Lovell) นักบินอวกาศแจ็ค สไวเกิร์ต (Jack Swigert) และนักบินอวกาศ เฟรด ไฮส์ (Fred Haise) เกิดอุบัติเหตุถังออกซิเจนระเบิด ในระหว่างเดินทางไปดวงจันทร์ นักบินอวกาศ 3 คน หนีภัยจากยานบังคับการไปยังยานลงจอดบนดวงจันทร์และใช้เป็นเรือชูชีพเพื่อเดินทางกลับโลก ทั้งหมดเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัยและกลายเป็นตำนานการกู้ภัยบนอวกาศครั้งสำคัญของโลก


17 กรกฎาคม 1975 ภารกิจ Apollo-Soyuz ช่วงท้าย ๆ ของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทั้ง 2 ประเทศ เริ่มหันมาจับมือเป็นพันธมิตรด้านอวกาศ ภารกิจ Apollo-Soyuz สหรัฐอเมริกาส่งยานอะพอลโลพร้อมนักบินอวกาศ 3 คน เข้าเชื่อมต่อกับยานโซยุซของสหภาพโซเวียตพร้อมนักบินอวกาศ 3 คนบนอวกาศ ภารกิจการเชื่อมต่อสำเร็จนักบินอวกาศจากทั้ง 2 ประเทศจับมือกันบนอวกาศและทำกิจกรรมร่วมกันบนยานอวกาศก่อนแยกย้ายเดินทางกลับโลก อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยานอะพอลโลของสหรัฐอเมริกาเดินทางกลับโลกได้เกิดอุบัติเหตุก๊าซพิษไนโตรเจนเตตรอกไซด์รั่วในยานอวกาศ นักบินอวกาศทั้ง 3 คน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อเดินทางกลับโลกต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลก่อนหายเป็นปกติในเวลา 1-2 สัปดาห์


28 มกราคม 1986 ภารกิจกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ (STS-51-L) กระสวยอวกาศเดินทางขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศ 7 คน กระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ระเบิดหลังจากบินขึ้นจากฐานปล่อย 73 วินาที เนื่องจากยางรูปวงแหวนที่ใช้ปิดกั้นแก๊สระหว่างรอยต่อในจรวดบูสเตอร์และทำให้ถังเชื้อเพลิงหลักระเบิด นับเป็นอุบัติเหตุครั้งแรกในโครงการกระสวยอวกาศของนาซา ภายหลังอุบัติเหตุครั้งนี้นาซาได้ทำการสอบสวนและใช้เวลานานเกือบ 2 ปี จึงเริ่มต้นโครงการกระสวยอวกาศอีกครั้ง ในภารกิจกระสวยอวกาศอิสคัฟเวอรี (STS-26) ในวันที่ 29 กันยายน 1988


กรกฎาคม 1995 เกิดอุบัติเหตุขึ้นในสถานีอวกาศเมียร์ (Mir) ของรัสเซียขณะนักบินอวกาศนอร์มัน ทาการ์ด กำลังออกกำลังกายบนสถานีอวกาศเมียร์ สายยางรักข้อเท้าขาดและพุ่งชนดวงตาจนได้รับบาดเจ็บไประยะหนึ่งก่อนหายเป็นปกติ


16 กรกฎาคม 1998 ภารกิจ ISS Expedition 36 ขณะนักบินอวกาศลูก้า ปาร์มิตาโน ทำการเดินอวกาศ เกิดอุบัติเหตุน้ำที่ใช้หล่อเย็นของชุดนักบินอวกาศรั่ว ทำให้น้ำลอยไปลอยมาอย่างอิสระในหมวกนักบินอวกาศของเขา ทำให้ระบบการสื่อสารของนักบินอวกาศลูก้า ปาร์มิตาโน ประสบปัญหาไม่ได้ยินเสียงจากนักบินอวกาศคนอื่น การเดินอวกาศในครั้งนั้นถูกยกเลิกและนักบินอวกาศกลับเข้าสถานีอวกาศนานาชาติ ISS


1 กุมภาพันธ์ 2003 ภารกิจกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (STS-107) หลังจากกระสวยอวกาศโคลัมเบียพร้อมนักบินอวกาศ 7 คน ปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS สำเร็จเป็นเวลา 15 วัน ในระหว่างเดินทางกลับโลกกระสวยอวกาศเกิดระเบิดขึ้นขณะผ่านชั้นบรรยากาศโลก นักบินอวกาศทั้ง 7 คน เสียชีวิต นับเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 2 ในโครงการกระสวยอวกาศของนาซา ภายหลังจากอุบัติเหตุในครั้งนี้นาซาได้ทำการสอบสวนและพบว่าสาเหตุอาจมาจากความเสียหายของแผ่นกระเบื้องกันความร้อนบริเวณปีกของกระสวยอวกาศที่ชำรุดขณะยานเดินทางขึ้นจากโลก นาซาสั่งหยุดปฏิบัติภารกิจอวกาศโดยกระสวยอวกาศไปเกือบ 2 ปี ก่อนกลับมาใช้งานอีกครั้งในปี 2005 โดยเพิ่มกระบวนการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องกันความร้อนของกระสวยอวกาศก่อนทุกครั้งก่อนที่กระสวยอวกาศจะเดินทางกลับโลกเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ อย่างไรก็ตามโครงการกระสวยอวกาศทั้งหมดถูกยุติลงในปี 2011


นอกจากอุบัติเหตุในภารกิจอวกาศทั้ง 8 ครั้ง ยังมีอุบัติและข้อผิดพลาดต่าง ๆ เกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั้งบนอวกาศและบนโลก อย่างก็ตามโครงการอวกาศในหลายประเทศยังคงเดินทางหน้าต่อไป เรียนรู้จากความผิดพลาดแก้ไขให้ถูกต้องและยกย่องผู้เสียสละและความกล้าหาญในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศซึ่งกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีหลายอย่างที่เราใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 


ที่มาของข้อมูล britannica.com

ที่มาของรูปภาพ wikipedia.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง