รีเซต

กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุ "โกนเซิน-จันทู" ยังไม่มีผลกระทบกับไทย

กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุ "โกนเซิน-จันทู" ยังไม่มีผลกระทบกับไทย
TNN ช่อง16
8 กันยายน 2564 ( 09:17 )
189
กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุ "โกนเซิน-จันทู" ยังไม่มีผลกระทบกับไทย

วันนี้ (8 ก.ย.64) กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุล่าสุด เวลา 04.00 น. "พายุโซนร้อนโกนเซิน" (CONSON) มีศูนย์กลาง บริเวณตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ 9 ก.ย.64 และเคลื่อนตัวไปทางเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วง 12-13 ก.ย.64   

ส่วน "พายุจันทู" (CHANTHU) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีทิศทางเคลื่อนตัวทางเกาะไต้หวัน ขณะนี้พายุทั้งสองลูก ยังไม่มีผลกระทบกับไทย ต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ  ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ


ขณะที่ การพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ 24 ชม. 10 วันล่วงหน้า (7-17 ก.ย.64) (ระหว่างเวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จาก ECMWF 2021090712 : 9–10 ก.ย. 64 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม 


ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้


ส่วน 11 – 17 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ทำให้ฝนที่ตกหนักบริเวณประเทศไทยมีน้อยลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนบน คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ในระยะนี้ 

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (8 ก.ย.64) ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย เริ่มมีกำลังแรงขึ้น

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย  


พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (9 - 14 ก.ย.64)  9–10 ก.ย. 64 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ 

สถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง 7 - 8 ก.ย.64 : ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 2.2 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา  ขนาด 3.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเวียดนาม  และขนาด 3.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ใกล้ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

ข้อมูลและภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง