รีเซต

ปมเหยียดเมแกนขยี้แผลหญิงผิวดำ ความอยุติธรรมที่รอวันถูกเปลี่ยนแปลง

ปมเหยียดเมแกนขยี้แผลหญิงผิวดำ ความอยุติธรรมที่รอวันถูกเปลี่ยนแปลง
ข่าวสด
11 มีนาคม 2564 ( 17:58 )
110
ปมเหยียดเมแกนขยี้แผลหญิงผิวดำ ความอยุติธรรมที่รอวันถูกเปลี่ยนแปลง

ปมเหยียดเมแกนขยี้แผลหญิงผิวดำ - วันที่ 11 มี.ค. เอพีรายงานว่า การประทานสัมภาษณ์เปิดเผยถึงชีวิตส่วนพระองค์เมื่อครั้งอยู่ในราชสำนักอังกฤษและหลังออกจากการเป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ ของเจ้าชายแฮร์รีแห่งอังกฤษ และ เมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเส็กซ์ พระชายา เผยให้เห็นถึงปัญหาการเหยียดผิวและเชื้อชาติที่ตอกย้ำความบอบช้ำทางจิตใจให้กับหญิงผิวดำจำนวนมากที่ยังคงต้องเผชิญและรอคอยวันที่ความอยุติธรรมดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนแปลง

 

การตอกย้ำความบอบช้ำดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประทานสัมภาษณ์ผ่านรายการทอล์กโชว์ของ โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรหญิงชื่อดัง ทางสถานีโทรทัศน์ช่องซีบีเอสของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดทั้งกระแสผู้ที่เห็นอกเห็นใจเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน กับผู้ที่ไม่เชื่อและหันมาโจมตีทั้งสองพระองค์

 

 

รายการทอล์กโชว์ดังกล่าวมีผู้ชมกว่า 50 ล้านคน และทำให้บรรดาสื่อมวลชน รวมทั้งผู้คนจำนวนมากที่ไม่ยอมรับพากันตั้งคำถาม ว่าสิ่งที่เจ้าชายแฮร์รี และโดยเฉพาะเมแกนต้องเผชิญนั้นเป็นการถูกเหยียดจริง หรือเป็นเพียงการเล่นบทผู้ถูกกระทำ เรียกคะแนนสงสาร

ทว่า สำหรับบรรดาหญิงผิวดำที่ให้สัมภาษณ์กับเอพีนั้นต่างระบุว่า คุ้นเคยดีกับกระแสตอบรับที่พวกตนถูกทำให้หมดความน่าเชื่อถือ และความจริงที่พวกตนนำมาเปิดเผยถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไร้สาระ หรือแม้กระทั่งถูกปฏิเสธไปโดยสิ้นเชิง

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กาย เธรีซา จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาแอฟริกัน-อเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นครลอสแองเจอลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือยูซีแอลเอ กล่าวว่า กลุ่มคลั่งคนผิวขาวต้องการให้คนผิวดำเหล่านี้รู้สึกโดดเดี่ยว

"เค้าต้องการให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจความเหนือกว่าของพวกเค้าไว้" และว่า "เมื่อคุณไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ นั่นแหละเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อจิตใจ" ผศ.จอห์นสัน ระบุ

 

ดัชเชสเมแกน ซึ่งมีพ่อเป็นคนผิวขาว และแม่เป็นผิวดำ ระบุว่า เมื่อช่วงทรงพระครรภ์อาร์ชี แฮร์ริสัน เมานต์แบ็ตเทน วินด์เซอร์ พระโอรสองค์โต ถูกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งแสดงความกังวลว่าพระโอรสอาจมีผิวดำ เป็นอีกหนึ่งความบอบช้ำต่อจิตใจต่อจากหลายเรื่องก่อนหน้า

ต่อมาดัชเชสเมแกนทรงมีความคิดอยากปลิดชีพพระองค์เอง จึงทรงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายบุคคลของสำนักพระราชวัง แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ โดยฝ่ายบุคคลอ้างว่าไม่สามารถช่วยเหลือสิ่งใดพระองค์ได้

 

การประทานสัมภาษณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมพร้อมกับกระแสตีกลับที่รุนแรงด้วยจากหลายฝ่ายที่ไม่เชื่อถือดัชเชสเมแกน อาทิ เดอะ นิวยอร์ก โพสต์ ที่พาดหัวรุนแรงทันทีว่า "สัมฯเมแกน มาร์เคิล โคตรไร้สาระ"

 

https://www.youtube.com/watch?v=WCXIOhptloc&t=4s

 

ต่อมาพิธีกรชื่อดัง ปิแอร์ส มอร์แกน เกิดวิวาทะกลางรายการกับเพื่อนพิธีกร กลางรายการ กู๊ด มอร์นิง บริเตน ทางช่องไอทีวีของอังกฤษ และถึงขั้นเดินออกไปจากห้องส่ง ก่อนจะยื่นจดหมายลาออก พร้อมยืนยันว่า ตนไม่เชื่อถือดัชเชสเมแกน และโจมตีว่าโกหกเรื่องคิดฆ่าตัวตาย ว่าเป็น "2 ชั่วโมงแห่งการใส่ร้ายป้ายสีราชวงศ์อังกฤษของพวกเรา"

ด้านสำนักพระราชวังบักกิงแฮม แถลงในนามตัวแทนสมเด็จพระราชินีนาถ อลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ว่าเรื่องที่เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน คู่รักราชวงศ์ที่ถอนตัวจากการเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ไปให้สัมภาษณ์ออกรายการสื่อของสหรัฐ ถึงประเด็นพระโอรสถูกตั้งคำถามเรื่องสีผิวนั้น เป็นประเด็นที่น่าวิตก และจะต้องหารือกันภายในครอบครัว

 

ผศ.จอห์นสัน กล่าวว่า กระแสการไม่เชื่อถือและไม่ยอมรับสิ่งที่ดัชเชสเมแกนนำมาเปิดเผยนั้นเป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจของผู้หญิงผิวดำด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์เช่นนี้มาด้วยตัวเอง คือ ไม่ได้รับการใส่ใจ และข้อเท็จจริงถูกทำลายให้เป็นกลายเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อน

"มันถือว่าเป็นการเหยียดหยามนะ เวลาที่คนพากันไม่ให้ความเชื่อถือเรื่องเหยียดกับคนระดับดัชเชสเมแกน เพราะว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงขนาดของปัญหาว่าใหญ่ขนาดไหนที่ผู้คนถึงขั้นปฏิเสธที่จะยอมรับมัน หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอยู่ตำตา หรือบางคนต้องประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน" และว่า "สิ่งเหล่านี้พอเกิดซ้ำๆ มันทำให้จิตใจเกิดความบอบช้ำค่ะ" ผศ.จอห์นสัน ระบุ

 

แพทย์หญิงแอนิตา โทมัส รองประธาน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยคริสต์ เซนต์ แคเธอรีน จากเมืองเซนต์ พอล รัฐมินเนโซตา ระบุว่า การประทานสัมภาษณ์ของดัชเชนเมแกนนั้นเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เพราะเป็นเรื่องผู้หญิงผิวดำในอเมริกากำลังต้องเผชิญกันอยู่

"สำหรับผู้หญิงผิวดำแล้วมันเรื่องที่น่าเศร้าใจมากค่ะ เพราะขนาดดัชเชสรวบวมความกล้าออกมาเปิดเผยความจริงให้โลกรู้ถึงประสบการณ์ถูกเหยียดของตัวเอง แต่ก็ยังไม่วายไม่ได้รับความเห็นอกเห็นใจ แถมยังถูกทำให้กลายเป็นคนร้ายเสียเองอีก"

 

พญ.โทมัส กล่าวว่า "การอดกลั้นต่อการถูกกระทำรูปแบบนี้นั้นต้องใช้พลังทางอารมณ์และจิตใจที่สูงมาก ดิฉันในฐานะนักจิตวิทยา หวังว่าผู้คนจะหันมาตระหนักถึงผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำแบบนี้ให้มากขึ้นค่ะ"

นางไซไน เฟลียรี ผู้ก่อตั้งนิตยสาร จัส' จาห์ ในประเทศอังกฤษ ซึ่งโปรโมตเรื่องวิถีชีวิตของคนผิวดำ เช่น แนวเพลงเร็กเก และแนวคิดราสตาฟารี หรือราสตา ลัทธิความเชื่อซึ่งจับเอาคัมภีร์ไบเบิลมาตีความใหม่ผสมด้วยแนวคิดเชื้อชาตินิยมของคนผิวดำ ระบุว่า ช่วงแรกหลังการประทานสัมภาษณ์นั้นตนได้เห็นกระแสความเห็นอกเห็นใจต่อดัชเชสจากสังคมหลั่งไหลออกมา ทว่า กระแสดังกล่าวถูกตีกลับอย่างรุนแรงในโดยเฉพาะในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์

 

"พวกเค้าปฏิเสธ เพิกเฉย และไม่ยอมรับสิ่งที่เมแกน และแฮร์รีเล่าให้ฟังค่ะ" และว่า "นี่คือกลยุทธการทำงานของสื่อและสังคมบางส่วน ทำแบบเดิมทุกครั้งที่เกิดเรื่องแบบนี้" นางเฟลียรี กล่าวตัดพ้อ

นางเฟลียรีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพีถึงประสบการณ์ของตนเอง ว่าเคยเข้าไปภายในร้านค้าและถูกเหยียด หรือใช้รถไฟใต้ดิน โดยเมื่อหญิงผิวขาวเห็นตนก็มีท่าทีกลัวลานและรีบกอดกระเป๋าสะพายข้างไว้ (ราวกับว่าดิฉันเป็นโจรเพราะผิวดำ)

 

"ถ้าการเหยียดกันรุนแรงระดับที่ดัชเชสเมแกนท่านไปโดนมาแล้วคนยังไม่เชื่อกัน แล้วไอ้ที่แบบทั่วๆ ไปอย่างที่ดิฉันเจอทุกวันอยู่เนี่ย จะมีใครเชื่อมั้ยล่ะคะ" นางเฟลียรี ตัดพ้อ

เฟลียรี ยังเล่าให้ฟังถึงค่านิยมในสังคมอังกฤษที่มักไม่ให้ความเชื่อถือกับหญิงผิวดำเมื่อออกมาเปิดเผยเรื่องตัวเองถูกเหยียดด้วย ว่า "พวกเค้าจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนค่ะ ถ้าไม่ถูกปฏิเสธก็ถูกทำเป็นไม่สนใจ หรือถึงขั้นที่บอกว่าไม่เห็นทั้งๆ ที่เกิดขึ้นตำตาก็มี"

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก คือ การที่เจ้าชายแฮร์รี และดัชเชสเมแกน ทรงระบุถึงสาเหตุที่ตัดสินใจย้ายมาพำนักในสหรัฐฯ ว่าเนื่องมาจากทัศนคติที่แฝงไปด้วยการเหยียดสีผิวของสื่ออังกฤษ

รายงานระบุว่า เมื่อช่วงที่เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน เริ่มคบหากันใหม่ๆ นั้นส่งผลให้หลายฝ่ายมองว่า อังกฤษกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ที่การเหยียดสีผิวหมดสิ้นไปแล้ว แต่ทว่าสิ่งที่เมแกนต้องเผชิญนั้นกลับกลายเป็นตรงกันข้ามจากสื่ออังกฤษหลายสำนัก

 

อาทิ การถูกคอลัมนิสต์แท็บลอยด์ใช้สรรพนามเรียกว่า "ของแปลก" และกล่าวถึงสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของเมแกน หรือถูกพาดหัวในเชิงเหยียดว่า "เมแกน(เกือบจะ)พันธุ์แท้จากคอมป์ตัน" ชื่อเมืองที่คนผิวดำอพยพกันเข้าไปอาศัยในอเมริกายุคสร้างชาติ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ขณะที่เดลี สตาร์ ออนไลน์ พาดหัวตั้งคำถามเจ้าชายแฮร์รีว่า "วิวาห์เข้าเรือนโจร" หรือไม่ เป็นต้น

กรณีดังกล่าวส่งผลเจ้าชายแฮร์รี และดัชเชสเมแกน ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์อังกฤษ และผู้คนพากันคาดเดาว่า สาเหตุน่าจะมาจากปมเหยียดสีผิว

 

นางฮีเธอร์ แม็คกี ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Sum of Us: What Racism Costs Everyone and How We Can Prosper Together ระบุว่า การที่ผู้คนออกมาด่วนสรุปไม่เชื่อสิ่งที่เมแกนกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่น่าเสียใจ ถือเป็นสิ่งที่หญิงผิวดำต้องเจออยู่ทุกวัน

"บ่อยครั้งที่ผู้หญิงผิวดำในห้องประชุม และสำนักงานต้องเจอการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม โดยไม่มีทางออก เช่นเดียวกันกับผู้หญิงผิวดำที่มียศถาบรรดาศักดิ์ที่ไม่มีทางออกเหมือนกัน นอกเสียจากต้องยอมสิโรราบเท่านั้น"

 

"ดิฉันหวังมากว่า ทุกคนจะมองเห็นคนเหล่านี้ คนที่เหมือนเมแกน แต่ไม่มีสิทธิมีเสียง ในที่ทำงานคุณ ในที่โรงเรียนของคุณ ซึ่งกำลังถูกกระทำ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม และไม่มีใครหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เค้า ให้เรื่องราวนี้เป็นแรงกระตุ้นให้พวกคุณลุกขึ้นเพื่อยืนหยัดเคียงข้างพวกเค้าค่ะ" แม็คกี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง