หวั่น รัสเซียบุกยูเครน สินค้าแพง-ศก.โลกวูบ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4.4 ในปี 2565 ลดลงจากร้อยละ 5.9 ในปี 2564 และจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2566 // ล่าสุดเพิ่งออกมาปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 3.9 ในปีนี้ ส่วนตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 เนื่องจากแรงกดดันราคามีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวไม่หวือหวา และเงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้ว ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวโยงกับหลายประเทศ รวมทั้งส่งผลให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น จะยิ่งฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้แตกต่างจากเมื่อปี 2557 ที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ราคาและความต้องการพลังงานอยู่ในระดับต่ำ
ปัจจุบัน ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยความขัดแย้งระหว่างยูเครนที่มีสหรัฐฯ และยุโรปหนุนหลัง กับรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดพลังงานโลก เมื่อวานนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ซื้อขายล่วงหน้าตลาดลอนดอน เคลื่อนไหวอยู่ที่ 96.19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ อยู่ที่ 95.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากเมื่อวันจันทร์ ราคาน้ำมันทั้งสองขยับทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2557 โดยเบรนต์อยู่ที่ 96.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 95.82 ดอลลาร์
“เจพี มอร์แกน” ประเมินว่า กำลังการผลิตและปริมาณน้ำมันสำรองที่ตึงตัว จะทำใหราคาน้ำมันแตะ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีนี้ และความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียมีความเสี่ยงทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปได้ที่จะแตะระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากราคาในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดยสถานการณ์นี้อาจฉุดให้จีดีพีโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเท่าตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติจะพุ่งสูงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งส่งผลต่อมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รวมถึงการยุติท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซีย ที่อาจกระทบต่อการจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปยังสหภาพยุโรป (EU) ที่นำเข้าจากรัสเซียร้อยละ 35 ของการบริโภคทั้งหมด ดังนั้น หาก EU ระงับการจัดส่งก๊าซก็จะต้องจัดหาจากแหล่งอื่น ๆ แทน เพิ่มแรงกดดันต่อตลาดพลังงาน โดยในกรณีร้ายแรง ราคาก๊าซอาจพุ่งขึ้น 3 เท่า จากระดับปัจจุบัน 4.5 ดอลลาร์ต่อ 1 ล้านบีทียู
นอกเหนือจากพลังงาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากเกิดการหยุดชะงักด้านการขนส่งในทะเลดำ ยิ่งดันอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารให้สูงขึ้น ท่ามกลางผลกระทบเรื่องปากท้องหลังเศรษฐกิจชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 โดยผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ของโลก 4 ราย ได้แก่ ยูเครน รัสเซีย คาซัคสถาน และโรมาเนีย ต่างขนส่งสินค้าจากท่าเรือในทะเลดำ ซึ่งอาจเกิดการหยุดชะงักจากปฏิบัติการทางทหาร หรือมาตรการคว่ำบาตร
ข้อมูลจากนานาชาติ (International Grains Council) ระบุว่า ยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ในปีงบประมาณ 2564/2565 และส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่วนรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่สุดของโลก เมื่อรวมการส่งออกข้าวสาลีของทั้งยูเครนและรัสเซีย มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 29 ของการผลิตทั้งโลก นอกจากนี้ หากเกิดการบุกรุกขึ้นจริง มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยืดเยื้อไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบหลักในการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ก๊าซนีออนสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในสหรัฐฯ นำเข้าจากยูเครน และราวร้อยละ 35 ของแร่พาลลาเดียม (Palladium) ที่ใช้ในสหรัฐฯ นำเข้าจากรัสเซีย // สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ทำเนียบขาวได้แจ้งบริษัทเทคโนโลยีและผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานชิป และเตือนให้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่น ๆ ย้อนไปเมื่อตอนที่รัสเซียบุกยึดดินแดนไครเมียจากยูเครนในปี 2557 ราคาก๊าซนีออนพุ่งขึ้น 600% แทบจะในชั่วข้ามคืน กระทบอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างรุนแรง และตั้งแต่นั้นมา ผู้ผลิตชิปได้พยายามกระจายการนำเข้าก๊าซนีออน แต่ยูเครนยังคงเป็นซัพพลายเออร์หลัก // สำหรับแร่พาลลาเดียม รัสเซียผลิตมากกว่าร้อยละ 45 ของอุปทานทั่วโลก และราคาขยับขึ้นแล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม
หากรัสเซียบุกยูเครนจริง บริษัทตะวันตกบางส่วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ โดยเฉพาะบริษัทที่ลงทุนในรัสเซีย อย่างเช่น “บีพี” ของอังกฤษ ที่ถือหุ้นร้อยละ 19.75 ใน “รอสเนฟต์” (Rosneft) ธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซีย นอกจากนี้ ยังร่วมทุนกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียอีกหลายราย // ส่วน “เชลล์” (Shell) ถือหุ้นร้อยละ 27.5 ในแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน “ซาคาลิน 2” ของรัสเซีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ และร่วมมือกับบริษัทพลังงานของรัฐบาลรัสเซีย “ก๊าซพรอม” (Gazprom)
บริษัทพลังงานจากสหรัฐฯ อย่าง “เอ็กซ์ซอน” (Exxon) รวมถึงบริษัทของรัฐบาลอินเดีย “ออยล์ แอนด์ เนเชอรัล ก๊าซ คอร์ป” ก็ดำเนินการในแหล่งซาคาลิน 1 เจพี มอร์แกน ประเมินว่า บริษัทในภาคการเงินของยุโรปก็มีความเสี่ยงจากการทำธุรกิจร่วมกับบริษัทรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไรไฟเซน ของออสเตรีย ที่ปีที่แล้วได้กำไรถึงร้อยละ 39 จากธุรกิจในรัสเซีย // ธนาคารโอทีพี และยูนิเครดิต ของฮังการี // ธนาคารโซซิเยเต เจเนราล ของฝรั่งเศส // กลุ่ม ING ของเนเธอร์แลนด์ ที่ต่างมีธุรกิจในรัสเซีย
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements-BIS) พบว่า เมื่อพิจารณาวงเงินการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรัสเซีย ธนาคารของฝรั่งเศสและออสเตรียถือเป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่สุดจากชาติตะวันตก โดยมีวงเงินปล่อยกู้ 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ก่อนหน้าความกังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หลายประเทศเผชิญอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง และทิศทางดอกเบี้ยที่กำลังจะขยับสู่ขาขึ้น กระทบตลาดพันธบัตร เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ขยับใกล้ร้อยละ 2 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนี อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นมากกว่า 0% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562 แต่สถานการณ์จะเปลี่ยนไป หากรัสเซียบุกยูเครน
ความเสี่ยงจากความขัดแย้งดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนแห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเช่นพันธบัตรที่มีอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ซึ่งดันเงินเฟ้อให้สูงมากขึ้นอีก ส่วนตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินยูโรและฟรังก์สวิส ที่ชี้วัดความเสี่ยงการเมืองโลกในเขตยูโรโซน จะแข็งค่าขึ้น นักลงทุนจะพากันซื้อฟรังก์สวิส เพราะมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจากค่าเงินฟรังก์สวิสที่เมื่อปลายเดือนมกราคมแข็งค่ามากสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2558 เช่นเดียวกับทองคำ ที่เมื่อวันอังคารราคาพุ่งขึ้นสูงขึ้นในรอบ 8 เดือน หลังมีข่าวเรื่องการบุกของรัสเซีย เพราะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามวิกฤตเศรษฐกิจหรือเกิดความขัดแย้งระดับโลก ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงถ้วนหน้าหลังมีข่าวดังกล่าว ขณะเดียวกัน สถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็กระทบชิ่งถึงธุรกิจการบินโลก ที่พอจะฟื้นตัวก็ต้องมาเผชิญกับการระบาดของไวรัสโอมิครอนที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยสายการบินหลายแห่งต้องยกเลิก หรือเปลี่ยนเที่ยวบิน ที่มีกำหนดเดินทางไปยังยูเครน อาทิ สายการบิน KLM ของเนเธอร์แลนด์ ที่ประกาศยกเลิกเที่ยวบินที่เดินทางไปยูเครนทั้งหมดจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
สายการบินของเนเธอร์แลนด์มีความกังวลต่อสถานการณ์นี้มาก เพราะเกรงจะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยูเครน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ก่อเหตุยิงเที่ยวบิน MH-17 ของมาเลเซีย เมื่อปี 2557 ส่งผลให้ลูกเรือและผู้โดยสาร 298 ราย เสียชีวิตยกลำ ซึ่งเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ 198 ราย
ขณะนี้บริษัทในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งรวมถึงสายการบิน บริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน และผู้ให้บริการขนส่งสินค้า กำลังเร่งหาแผนสำรอง เพื่อรับมือหากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจนกระทบธุรกิจ ทั้งในกรณีที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรและรัสเซียตอบโต้กลับด้วยการปิดน่านฟ้า ซึ่งจะกระทบเส้นทางบินระหว่างยุโรปกับเอเชีย หรืออเมริกาเหนือกับเอเชีย ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบจากความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจบุกยูเครน ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง แต่ก็เป็นสมมติฐาน ที่ทุกฝ่ายคาดหวังไม่ให้เกิดขึ้น และสามารถหาทางออกผ่านการเจรจา